ผู้โดยสารทะลัก แอร์พอร์ตลิงก์ ทุ่ม 20 ล้าน ปรับรถขนสัมภาระเป็นตู้โดยสารซีตี้ไลน์ เล็งซื้อเพิ่มอีก 15 ตู้

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุงบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันศุกร์ ยอดผู้โดยสารทะลุ 8 หมื่นคน/วัน ส่วนวันธรรมดาอยู่ที่ 6.8-7 หมื่นคน/วัน และวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 5 หมื่นคน/วัน ทำให้แอร์พอร์ตลิงก์ เตรียมที่จะจัดซื้อตู้โดยสารใหม่อีกจำนวน 15 ตู้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีระบบเดินของรถแอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับเปลี่ยนขบวนรถโดยสารสำหรับขนสัมภาระเดิมจำนวน 4 ตู้ ให้มาเป็นขบวนรถโดยสารซิตี้ไลน์ หรือขบวนรถธรรมดาอีกด้วย คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มประมาณ 8-9 พันคน เบื้องต้นอาจจะใช้งบประมาณในการปรับปรุงประมาณ 20 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้

“ทั้ง 2 โครงการ จะต้องมีการเสนอขอจัดสรรงบประมาณจากบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยก่อนหน้านี้ แอร์พอร์ตลิงก์ เคยหารือเรื่องนี้ กับรฟท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอร์พอร์ตลิงก์ บ้างแล้ว ซึ่งการรถไฟฯ ก็ไม่ขัดข้องอะไร”

นายสุเทพ กล่าวว่า แอร์พอร์ตลิงก์ เตรียมติดตั้งตู้ซื้อบัตรโดยสารเพิ่มเติมในบริเวณสถานี เช่น สถานีพญาไทจะเพิ่มอีก 3 เครื่อง จากเดิมที่มีอยู่ 9 เครื่อง (รวมเป็น 12 เครื่อง) สถานีลาดกระบังเพิ่ม 3 เครื่อง จากเดิมที่มีอยู่ 5 เครื่อง (รวมเป็น 8 เครื่อง) และที่สถานีสุวรรณภูมิเพิ่มอีก 1 เครื่อง จากเดิมที่มีอยู่ 9 เครื่อง (รวมเป็น 10 เครื่อง)

รวมทั้งจะปรับย้ายตู้ซื้อตั๋วโดยสารในบริเวณ 8 สถานี ให้เข้ามาอยู่ใกล้กับผู้โดยสารมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีหลายสถานีที่ตั้งอยู่ในจุดที่มองไม่เห็น เช่น ลาดกระบัง หัวหมาก ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีการปรับจะทำให้ยอดซื้อตั๋วผ่านตู้เพิ่มขึ้น เพราะจากตู้ของแอร์พอร์ตลิงก์ทันสมัยกว่าบีทีเอส เพราะสามารถใช้เหรียญ หรือแบงก์ ก็ได้ และยังสามารถเติมเงินและเช็กยอดเงินคงเหลือที่ตู้ได้อีกด้วย รวมทั้งจัดทำส่งเสริมการขายร่วมกับสายการบินเวียตเจ็ท โดย มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สมาร์ตพาส สามารถนำบัตรมารับส่วนลดราคาบัตรโดยสารจากสายการบินได้ 10% เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. นี้ เป็นต้นไป

นายสุเทพ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อรถโดยสาร 7 ขบวนใหม่ซึ่งค้างคามานาน ว่า จะต้องรอให้แอร์พอร์ตลิงก์มีการปรับระบบอาณัติสัญญานให้เป็นระบบเปิดหรือระบบสากลที่สามารถรองรับเทคโนโลยีจากทุกบริษัทได้ก่อน จึงจะดำเนินการจัดหารถใหม่ 7 ขบวนได้ โดยล่าสุดบอร์ด รฟท. ผ่านความเห็นขอบโครงการปรับเปลี่ยนอาณัติสัญญานมูลค่า 1,900 ล้านบาทไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดประกวดราคา

สำหรับแนวโน้มรายได้นั้น ในปี 2559 มีรายได้ 630 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10% ส่วนยอดผู้โดยสารปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% เช่นกันอยูที่ประมาณ 23 ล้านคน/ปี สำหรับอัตราการใช้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตั้งเริ่มให้บริการเดินรถในปี 2553 มีผู้โดยสาร 4,740,764 คน และ 2559 ที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 21,167,348 คน ทำให้แอร์พอร์ตลิงก์ มียอดผู้โดยสารเกิน 100 ล้านคน และจนถึงปัจจุบันในวันที่ 20 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมามีผู้โดยสารรวม 108,385,817 คน