“สมคิด”จุดพลุ”4.0″ มอง”เลือดใหม่”ไทยแลนด์ ตอบรับ”สตาร์ตอัพ”

หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวคิดการผลักดันประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ผ่านผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (สตาร์ตอัพ) จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคตต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

สตาร์ตอัพจะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างไร

สมัยก่อนผู้มีบทบาทสำคัญจะเป็นรายใหญ่จากนักลงทุนของต่างชาติ การเริ่มต้นทุกอย่างจึงมาจากบริษัทขนาดใหญ่ มีการจ้างแรงงาน ระบบการศึกษาผลิตเพื่อป้อนองค์กรเหล่านั้น ที่เหลือก็เป็นเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีในอดีตเป็นเอสเอ็มอีผูกกับบริษัทใหญ่ แต่พอผ่านไปจริงๆ แล้ว หัวใจพัฒนาประเทศต้องสร้างอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี (Enterpreneur Economy) คือระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เปรียบเทียบเหมือนปลูกต้นไม้ต้องปลูกเป็นป่า เศรษฐกิจจะแข็งแรงไม่ใช่ปลูกต้นไม้ไม่กี่ต้น ที่เหลือเป็นหญ้าแพรก เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จอดป้ายกันทั้งประเทศ

เราเคยมีบทเรียนแล้วเมื่อปี 2540 ตอนนั้นบริษัทขนาดใหญ่เดี้ยงหมด แต่ประเทศอิตาลี จีน ไต้หวัน หรือฮ่องกง มีบริษัทขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ผลกระทบจะไม่มาก

ระบบเศรษฐกิจแท้จริงต้องผลักดันให้เกิดบริษัทใหม่มากที่สุด ถ้าบริษัทเกิดใหม่จะเป็นแองเจิลออฟโกลด์แห่งอนาคต แต่ละบริษัทที่เกิดขึ้นเป็นตัวของตัวเอง คิดทำอะไรเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ โดยไม่ผูกอยู่กับรายใหญ่ เมื่อสมัย 15 ปีก่อน ผมเรียกกลุ่มนี้ว่าสแตนด์อโลน (stand alone) ยืนด้วยตนเอง ตอนนั้นผมทำแคมเปญ โลกของคนตัวเล็กŽ คือสร้างกลุ่มเอสเอ็มอีขึ้นมา

แต่ผ่านมา 10 ปีทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เอสเอ็มอีก็ยังอ่อนแอ มันก็ไม่เกิด

ขณะเดียวกันโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น แม้อยู่ในจุดทุรกันดารก็สามารถค้าขายผ่านเว็บไซต์ได้ ฉะนั้น การสร้างอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี จึงทำได้ เกิดได้ ยุคนี้การแข่งขันได้ไม่ใช่ดูแค่ต้นทุน แต่ต้องมีอินโนเวชั่น (innovation) ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ อินโนเวชั่นจากวิเคราะห์วิจัยรีเสิร์ซ (research) จากเทคโนโลยีและโนว์ฮาว

ดังนั้น จึงตั้งธงว่าอนาคตของประเทศไทย ต้องเน้นการมีอินโนเวชั่น ผลักดันให้คนทำให้อินโนเวชั่นเกิดขึ้น และเกิดการค้าจากอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี ในวันข้างหน้า 2 ตัวนี้ต้องมาคู่กัน

ยกตัวอย่างของสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ

การเข้ามาบริหารประเทศตอนนี้ก็เพื่อต้องการสร้างอินโนเวชั่นและอองเทอเพรอนัวร์ ในส่วนอินโนเวชั่นจะเกิดได้ต้องมีคลัสเตอร์ ได้ให้นโยบายกับบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ว่าต่อจากนี้การลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ต้องการแค่มาตั้งโรงงาน มาใช้แรงงานถูกๆ ในการประกอบ เมื่อเห็นว่าประเทศใดแรงงานถูกกว่าก็ย้ายไป

ผมต้องการให้เข้ามาลงทุนเป็นแพคเกจคลัสเตอร์ คือต้องมีรีเสิร์ซ มีโรงเรียนวิจัย แล้วจ้างผลิตนวัตกรรม และทุกคลัสเตอร์ต้องมี 3 เสาหลักในนั้น ส่วนที่หนึ่งภาครัฐให้การสนับสนุน ส่วนที่สองเอกชน และส่วนที่สามมหาวิทยาลัยด้านวิจัย ไม่ว่าเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอาหาร คลัสเตอร์กลุ่มอีโคโนมี กลุ่มยานยนต์หุ่นยนต์ เป็นต้น

ผมไปเกาหลีใต้ เขาบอกเองว่า จีดีพีประเทศประมาณ 20% มาจากธุรกิจของบริษัทซัมซุง ในอนาคตมีสิทธิน็อกได้ง่าย แนวคิดจึงเริ่มเปลี่ยนเขาไม่ยึดบริษัทใหญ่ พยายามสร้างอีโคโนมิกเซ็นเตอร์ให้บริษัทใหญ่เป็นเสาหลัก เพื่อให้คนหนุ่มสาวเข้าไปใช้ได้คิดค้น ต่อมาก็สนับสนุนการเงิน หรือร่วมทุนจนเกิดธุรกิจสตาร์ตอัพ

นโยบายต่อจากนี้ต้องการสร้างสตาร์ตอัพทั่วประเทศ แต่สตาร์ตอัพไทยจะแตกต่างจากประเทศอื่น ของไทยไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราต้องรวมศิลปวัฒนธรรมและบริการ ไทยเราแข็งมากในด้านนี้ ที่ประเทศอื่นไม่มี ดังนั้น สตาร์ตอัพไทยไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเบสสตาร์ต อัพอย่างเดียว เรารวมเป็นครีเอทีฟสตาร์ตอัพ

ตอนนี้ทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เมื่อมีโอกาสผมจะไปต่างจังหวัด เพราะได้มีการกระจายงบประมาณไปยังกลุ่มจังหวัดต่างๆ จะไปดูเรื่องการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญช่วยการเกิดของสตาร์ตอัพได้มาก ล่าสุดไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คนนำทางพาเข้าทางลัดเส้นบ้านสะลวงนอก เส้นทางนี้ผมได้เห็นอาร์ติสต์ฝังตัวอยู่มาก ได้เข้าไปร้านกาแฟรายหนึ่ง เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 40 ปี จบวิศวเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เบื่องานในเมืองก็กลับมาบ้าน ก่อนเปิดร้านกาแฟ ก็เริ่มจากบ่มชา มีหลากหลายรสชาติทั้งกล้วย ทุเรียน รับซื้อจากกลุ่มชาวบ้านใกล้เคียงเพื่อส่งออก แล้วต่อยอดด้วยการเปิดร้านกาแฟและขายชา

ผมว่าเป็นชาที่อร่อยที่สุดในโลก ร้านก็มีการตกแต่งได้น่ารัก ดึงลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเข้ามา

อีกตัวอย่าง ร้านอาหารที่มี 4 หนุ่มรุ่นใหม่ช่วยกันดูแล ร้านนี้จะรับลูกค้าแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น ไม่มีเมนูให้เลือกแต่ทางร้านจะจัดเตรียมเมนูแต่ละวันไว้ให้บริการ ต่อคน 6 เมนู มีการตกแต่งเป็นอาหารตาได้อย่างสวยงาม ในเส้นทางนี้ยังได้เห็นคนรุ่นใหม่มาทำปศุสัตว์เลี้ยงแกะ แปรรูปเพื่อส่งออก เหมือนฟาร์มที่ฮอกไกโด ด้านที่พักก็มีหลายแห่งที่โรแมนติก ทำให้เห็นว่าสตาร์ตอัพทำให้คนกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด แต่ที่แย่คือขากลับต้องนั่งรถกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อมาขึ้นเครื่องบิน ก็คุยกับการบินไทย มีสายการบินตั้ง 2 สาย จะทำอะไรให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้มากขึ้น ตามนโยบายผลักดันเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด

มีแนวทางจะกระตุ้นคนรุ่นใหม่คิดเป็นสตาร์ตอัพอย่างไร

ปีก่อนผมได้สั่งรัฐมนตรีอุตตม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ทำไทยแลนด์สตาร์ตอัพ เพื่อปลุกให้คนรู้ว่าคุณทำธุรกิจได้ รัฐพร้อมช่วยคุณแต่ต้องมีไอเดีย ต่อมาให้ธนาคารออมสินจัดประกวดผลงานสร้างสรรค์ ล้วนเป็นหนุ่มสาวอายุไม่ถึง 30 ปีทั้งนั้น ตอนนี้ก็จะเห็นธนาคารต่างๆ ออกแนวคิดส่งเสริมสตาร์ตอัพออกมาต่อเนื่อง

แต่ต้องดึงการท่องเที่ยวมาช่วยเพื่อให้เกิดการรับรู้ไปทั่วโลก เรื่องเรายังขาด ทำให้ต้องมีเน็ตหมู่บ้าน เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับ ดังนั้น จึงต้องลงทุนอินเตอร์เน็ต นั่นคือทุกหมู่บ้านต้องมีอินเตอร์เน็ต วางเป้าหมายเป็นฮับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) งบประมาณเตรียมให้แล้วแต่ดำเนินงานยังไม่คืบ

ผมสั่งต้องเสร็จภายในปีนี้ รัฐมนตรีดีอี (พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เดือนมีนาคมนี้ ต้องประมูลเรื่องวางเครือข่ายให้เสร็จ และกลางปีต้องจัดงานใหญ่ของดิจิทัลไทย จะท้าทายประเทศคู่แข่งให้สะเทือน ได้เชิญซีแอลเอ็มวีมาร่วมงานด้วย

ตอนนี้มี 2 เจ้าใหญ่มาร่วมแล้ว คือ อาลีบาบาŽ เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ หัวเว่ยŽ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและอุปกรณ์เครือข่ายชั้นนำของจีน ยังมีค่าย อื่นๆ อีกที่จะร่วมงาน

อีกทั้งให้ตั้งสถาบันใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ คือสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (นิว อีโคโนมี อคาเดมี) จะเป็นจุดเริ่มต้นฝึกธุรกิจให้รู้เรื่องดิจิทัลและทำอีคอมเมิร์ซเป็น เป้าหมายผมไม่ใช่คนอยู่ในเมืองใหญ่ แต่มุ่งเป็นกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรให้สามารถใช้อีคอมเมิร์ซในการค้าขาย อาลีบาบาเข้ามาช่วยเรื่องอบรมและขึ้นเว็บไซต์ เขาได้ช่วยจีนอยู่ 2 หมื่นหมู่บ้าน ทำให้เกษตรกรจีนมีเงินใช้ร่ำรวย ตอนนี้อาแปะจีนยังทำอีคอมเมิร์ซเป็นเลย

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม สตาร์ตอัพคนรุ่นใหม่แยะขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม มีงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะส่งเสริมสตาร์ตอัพเอสเอ็มอีที่กำลังเกิดให้มีทักษะมีเงินทุนต่อยอดทำธุรกิจ

สมัยก่อนสตาร์ตอัพเกิดน้อย เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ ตอนนี้ช่วยทุน เติบโตก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ อีกทางเอกชนรายใหญ่ก็มีพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ไม่มีออฟฟิศของตนเอง ได้เข้าไปใช้ เชื่อว่าบ้านเมืองไทยนิ่งสัก 2-3 ปี จะเกิดกลุ่มครีเอทีฟคนไทยอย่างรวดเร็ว

อย่างร้านกาแฟทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารหรือติดต่อค้าขายได้หมดแล้ว

ตอนนี้สังคมรับรู้และตื่นตัวเรื่องสตาร์ตอัพ แต่ยังต้องขับเคลื่อนผ่านราชการทางปฏิบัติระบบจะช้ากว่าเอกชน เชื่อว่า 3-5 ปีข้างหน้า ที่ทำวันนี้จะไปตามเป้าหมาย การแข่งขันจะช่วยกระตุ้นให้สตาร์ตอัพได้เกิดเร็วขึ้น จึงมีหลายเรื่องที่จะมีการปฏิรูป รวมทั้งเรื่องการศึกษาด้วย

เมื่อไหร่ก็ตาม สตาร์ตอัพลงไปสู่การศึกษาระดับอาชีวะ พวกนี้มีฝีมือ จบออกมาจะทำงานที่ตนชอบ เช่น ผลิตนาฬิกาเก๋ๆ ทำเครื่องหนังดีๆ มีดีไซน์ของตนเอง การศึกษาจึงต้องตามตลาดให้ทัน ตอนนี้อเมริกาไม่ใช่เน้นด้านหลักสูตรบริหารแล้ว แต่เน้นสายอาชีพจะเห็นการเกิดของคนค้าขายเต็มไปหมด

ประเด็นน่าเป็นห่วงในปี 2560

ไม่มีอะไรน่าห่วง ถ้าไม่มีข่าวหรือสถานการณ์อะไรที่จะมากดดันความน่าเชื่อถือของประเทศ ขอให้ประเทศนิ่ง การบริหารงานมีความต่อเนื่อง ชัดเจน จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างชาติเอง

บทสัมภาษณ์นี้เป็นเพียงบางส่วนที่รัฐบาลจะกระตุ้นการเกิดสตาร์ตอัพอย่างไร ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ในงานเสวนา มติชนก้าวที่ 40 ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0Ž ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ เวลา 08.30-12.30 น. ที่นั่งมีจำกัด