เป้าหมาย ผู้นำสมาพันธ์ SME ความสำเร็จ คือ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง

เป้าหมาย ผู้นำสมาพันธ์ SME ความสำเร็จ คือ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง

คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช เป็นศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีชีวภาพ (ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร) มหาวิทยาลัยรังสิต เขาเป็นผู้บริหาร บริษัท ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไร้ท์รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) และยังดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ SME ไทย เป็นสมัยที่ 2

“แรกเริ่มเดิมทีไม่เคยคิดจะเรียนเทคโนโลยีชีวภาพ ความฝันในวัยมัธยม อยากเป็นวิศวกร จึงเลือกเรียนแผนกวิทย์-คณิต ที่ไม่มีเรียนวิชาชีววิทยา จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ แล้วจับพลัดจับผลูเพื่อนชวนมาสอบเข้าที่ ม.รังสิต เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกๆ ที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์” คุณแสงชัย ย้อนอดีตวัยเยาว์

ก่อนเล่าต่อ  ขณะที่กำลังเลือกอันดับคณะที่อยากจะเข้าเรียน มีอาจารย์ ม.รังสิต ท่านหนึ่ง เดินมาคุยกับเรา แล้วท่านก็พูดว่า “คณะเทคโนโลยีชีวภาพน่าเรียนมาก เป็นคณะแห่งอนาคต จบไปมีงานทำแน่” ด้วยความคึกคะนอง สุดท้าย จึงเลือกคณะวิศวะเป็นอันดับ 1 คณะสถาปัตย์เป็นอันดับ 2 และคณะเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอันดับ 3 ปรากฏว่าสอบติดอันดับ 3 ทั้งที่ไม่เคยเรียนวิชาชีววิทยามาก่อนเลย

คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

ทำให้การเริ่มเรียนวิชาชีววิทยาในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นความโหดร้ายอย่างมากในช่วงแรก แต่พอปรับตัวได้ก็เริ่มสนุก มองว่านี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนในสิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ทำให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นนักกิจกรรม มีโอกาสเป็นประธานสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีผลงานริเริ่มโครงการ คือ พานักศึกษาและอาจารย์ไปทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนหมู่บ้านดงน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์

โดยทำทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1. แนะนำสารปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ ด้วยสารสกัดจากสะเดา 2. แนะนำกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกแตงโมและฟักทองเพื่อเอาเมล็ด เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมักจากจุลินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี 3. สร้างโรงเพาะเห็ดให้กับชุมชน และ 4. สอนหนังสือเด็กๆ ในช่วงปิดเทอม

บทบาท ภาคธุรกิจรักษ์โลก

ปัจจุบัน คุณแสงชัยเป็นนักธุรกิจในฐานะผู้บริหาร บริษัท ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) กิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์งานวางระบบทางวิศวกรรม และบริการผลิต ติดตั้ง และให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบบำบัดอากาศ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบบำบัดของเสีย โดยมีกลุ่มลูกค้า 90% เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี

และยังเป็นผู้บริหาร บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) กิจการผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถ่านกัมมันต์ หรือ Activated Carbon ที่สามารถใช้ซ้ำได้ นำมาซึ่งการลดระดับคาร์บอนฟุตพริ้นต์ และสร้างแต้มต่อในการเพิ่มคาร์บอนเครดิตให้กับคู่ค้าทางธุรกิจ

ตั้งใจ

โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “ถ่านกัมมันต์ “ซึ่งผลิตจากกะลามะพร้าว มีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง จึงสามารถเลือกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นใกล้เคียงในภูมิภาค เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นของเหลือใช้ โดยผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เป็น Bio Economy ซึ่งเชื่อมโยงกับ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเราให้บริการนำเอาถ่านกัมมันต์ที่จำหน่ายไปแล้วมาฟื้นฟูสภาพ

จนสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ช่วยเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้สามารถฟื้นฟู หมุนเวียน และใช้ซ้ำได้ถึง 5-10 ครั้ง ก่อนการกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดพื้นที่ในการฝังกลบ นำมาซึ่งการลดต้นทุนอย่างมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ โดยให้บริการแบบครบวงจร

“เราต้องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพพร้อมสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9” คุณแสงชัย ระบุ

สิ่งที่ทำวันนี้ ยังไม่ใช่ความสำเร็จ

สำหรับบทบาท การทำหน้าที่ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เป็นสมัยที่ 2 แล้วนั้น คุณแสงชัย เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ได้รับการชักชวนจากเพื่อนซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์ SME ไทย ในสมัยนั้น เพราะเห็นว่า ตัวเขามีอุดมการณ์และเชื่อว่าสมาพันธ์จะมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสมาพันธ์ SME ไทย เป็นองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนจากกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา ที่มุ่งมั่นในการรวบรวมและส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกพื้นที่

ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ ให้มีโอกาสเข้าถึงกลไกการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยกระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งเข้าสู่ชุมชน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ที่ว่า “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่ยาว”

ลงพื้นที่

คุณแสงชัย บอกอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 3.2 ล้านราย โดย 99.5% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอีก 85% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งสามารถสร้างตำแหน่งงานมากถึง 12 ล้านตำแหน่ง คิดเป็น 72% ของการจ้างงานทั้งระบบในภาคเอกชน โดยสมาพันธ์ SME ไทย มีสมาชิกอยู่ประมาณแสนราย ซึ่งแบ่งออกเป็นสมาชิกทั่วไปและสมาชิกสมทบ

“สมาพันธ์ SME ไทย มีพันธกิจในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ นวัตกรรม และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับทักษะและขีดความสามารถ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ ตลอดจนถึงภาคแรงงานทั้งระบบ รวมถึงการจัดหากองทุนของหน่วยงานต่างๆ หรือแหล่งทุนต้นทุนต่ำจากหน่วยงานธนาคารที่เชื่อถือได้ให้กับเอสเอ็มอี พร้อมทั้งขยายช่องทางการตลาด เพื่อส่งออกสินค้าและบริการไปสู่ตลาดระดับโลก”

“ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในทุกระดับ เราจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเป็นกระบอกเสียงในการแก้ปัญหาต่างๆ เสนอแนวทางการแก้ไขที่ตรงกับความต้องการ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า นำมาซึ่งความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมไทยด้วยทิศทางที่ถูกต้อง” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ระบุ

นอกเหนือไปจาก 2 บทบาทสำคัญดังกล่าวมาข้างต้น คุณแสงชัยยังได้รับโอกาสให้เป็นคณะกรรมการของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

กรมราชทัณฑ์ สถาบันยานยนต์ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามขับเคลื่อน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งล้วนมีความสำคัญ และสัมพันธ์กับการยกระดับฐานราก เพื่อการพัฒนาของประเทศ

หารือว่าที่ผู้นำประเทศ

“สิ่งที่ทำในวันนี้ ยังไม่ใช่ความสำเร็จ เพราะความสำเร็จในมิติของผมคือ ความสำเร็จร่วมกัน จากการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตและสามารถแข่งขันอย่างทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ” คุณแสงชัย บอกอย่างนั้น

ก่อนฝากแง่คิดไว้ว่า

“การเรียนรู้ทุกช่วงของชีวิต ต้องสามารถสกัดความรู้มาใช้ประโยชน์ต่อได้ บางสิ่งที่ดูยากในตอนแรก อาจต้องลองลงมือทำก่อน อย่าเพิ่งพูดว่าทำไม่ได้ ต้องมีทัศนคติเชิงบวกกับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว ผิดพลาด แก้ไข และลองทบทวน พยายามทำซ้ำจนสำเร็จ เพราะฉะนั้น ตัวผมเอง ไม่ได้สำเร็จหรือประสบผลลัพธ์ในเชิงบวกกับทุกเรื่องที่ทำ แต่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำสองในเรื่องเดิมอีก”