ความรู้เบื้องต้น ในยุคสมัย “อะไรก็ขายได้ แค่มีอินเตอร์เน็ต”

นักเรียนเศรษฐศาสตร์จะคุ้นกับประโยคที่ว่า “There’s no free lunch….โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ใครเล่นเฟสบุ๊ก แอพพลิเคชั่นโซเชียลออนไลน์ที่ดูเหมือนจะฟรี ก็ไม่ฟรีเสียแล้ว ปัจจุบัน เมื่อเปิดเฟสบุ๊ก เลื่อนดูนิวส์ฟีด จะพบสเตตัสที่เราไม่เคยกดไลค์เพจดังกล่าว โผล่ขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ แทรกอยู่กับสเตตัส เพื่อนๆของเรา

มันคือการโฆษณาของเฟสบุ๊กนั่นเอง ซึ่งเพจต่างๆต้องจ่ายเงินให้กับเฟสบุ๊ก เพราะมาถึงทุกวันนี้ เราประจักษ์ชัดแล้วว่า การโฆษณาในเฟสบุ๊กได้ผลพอสมควร เพราะคนไทยใช้เฟสบุ๊กเยอะ แถมยังเป็นการสื่อสารสองทาง ที่สำคัญการซื้อโฆษณาก็แสนง่ายดาย แล้วทำไมเราต้องไปทำการตลาดด้วยวิธีการอื่นให้วุ่นวายด้วย

ผู้เขียนมีโอกาสมาเที่ยวงานวันยางพาราบึงกาฬ ซึ่งมีการอบรมเทคนิคเกี่ยวกับการทำอาชีพและการหารายได้ หนึ่งในหัวข้อสำคัญ ที่มีการนำมาพูดถึงกันคือเรื่องเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ตขายของ ว่ากันว่า ทุกอย่างขายได้ถ้ามีอินเตอร์เน็ต ฉะนั้น เราจึงควรที่จะเรียนรู้เทคนิคการขายของอย่างมืออาชีพไว้บ้าง

กัญสพัฒน์ อัศวรุจานนท์ (มุก) ปัจจุบันเป็น Creative Copywriter และ Blogger ให้กับบริษัทด้าน Tech Startup และ กิตติ กีระพงษ์ Marketing Associate Sellsuki, Co. Ltd. จะมาเล่าหลักการคล่าวๆเกี่ยวกับการทำธุรกิจขายของออนไลน์ให้ฟัง

กิตติ เกริ่นนำก่อน โดยเล่าว่า ทุกวันนี้เราใช้อินเตอร์เน็ตกันอย่างเป็นปกติ สามารถเชื่อมต่อโลกอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา ปัจจุบันมือถือมีประสิทธิภาพสูงกว่า คอมพิวเตอร์แล้ว ทำให้มีความสะดวกในการใช้งาน โดยคนหันมาทำการขายของออนไลน์มากขึ้น ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าการขายของออนไลน์ลงทุนน้อย ที่จริงมีการลงทุน ใช้ความคิดเหมือนทำธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่แค่โพสต์อะไรไปเรื่อย เพราะการขายของออนไลน์เป็นเรื่องของกลยุทธ์ ต้องวางแผน และต้องทุ่มเวลาในการพัฒนาเพื่อให้ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้

นักการตลาดคนดังกล่าวเล่าอีกว่า การขายของออนไลน์หากทำอย่างจริงจังมันคืออาชีพหลักไปแล้ว ไม่ใช่แค่หวังทำเพื่ออาชีพเสริม โดย
การเติบโตของตลาดออนไลน์มีสูงมาก โดยประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตของการขายของออนไลน์สูงมาก ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยที่เล่นอินเตอร์เน็ตสูงถึง 22 ล้านคนที่เล่นมือถือ ขณะที่อัตราผู้ใช้โทรศัพท์ มีมากกว่า 90 ล้าน เครื่อง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรพบว่า จะมีการเติบโตของจำนวนผู้เล่นอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์ คาดว่า น่าจะมีร้านค้าบนโลกออนไลน์มากกว่า 6-7 แสนร้านแล้ว

ด้าน กัญสพัฒน์ อัศวรุจานนท์ เล่าว่า หลักของโลกออนไลน์เป็นเรื่องของการซื้อง่ายขายคล่อง โดยการซื้อขายของจะมีอยู่กับเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งเว็บไซต์มักเกิดมาเพื่อให้ข้อมูล รูปภาพ จะถูกจัดเป็นพื้นที่สำหรับแสดงสินค้า หากมีเว็บไซต์จะทำให้ดูน่าเชื่อถือ ข้อดีคือเราสามารถออกแบบเว็บไซต์ได้ ค้นหาได้จากกูเกิล ส่วนโซเชียลมีเดีย ไทยถือเป็นชาติแรกๆนำสิ่งของมาขายในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของเว็บไซต์สังคมออนไลน์ต่างชาติต้องมาศึกษา เรื่องนิสัยการขายของออนไลน์แบบไทย เพราะเราเป็น สังคมที่มีความเชื่อใจสูงมาก เมื่อมีการซื้อของกันได้ ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่น กระทั่งขยายต่อไปเรื่อยๆจนกลายเป็นสังคมของการซื้อขายขนาดใหญ่ โดยข้อดีของการใช้โซเชียลมีเดียขายของคือการสามารถโปรโมทร้านได้ง่าย กว่าเว็บไซต์ ที่จะต้องมี การออกแบบมากกว่า อย่างเช่นเฟสบุ๊กจะมีเมนูสร้างโฆษณาได้อย่างง่ายๆ

Blogger ชื่อดัง เล่าอีกว่า โดยหากเราจะขายของออนไลน์ก็ต้องมีสินค้า หากมีสินค้าอยู่แล้วก็ไม่ยาก แต่หากไม่มีสินค้า ก็ต้องหา ซึ่งสินค้าที่มี ก็ต้องเป็น ของดีและมีคุณภาพ คุ้มค่า คุ้มราคา เมื่อมีสินค้าแล้วต้องทำการโฆษณา ทำการตลาด เมื่อคนรับรู้แล้ว ก็จะต้องทำการขาย นอกจากนี้ยังต้องมีการทำสต๊อกสินค้า ที่จะต้องบริหารให้ดี ก่อนที่สินค้าจะหมดอายุ เพราะต้องทำให้สต๊อกสินค้าไม่มากเกินไป บางครั้งมีปัญหาการขายไม่ได้ก็จะมีปัญหาอีก

“นอกจากนี้หากผู้อ่านคิดจะรวยก็ต้องรู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู้ว่าเดือนไหนขายดี เดือนไหนขายไม่ได้ เพื่อให้สามารถลดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย เห็นธรรมชาติของธุรกิจตัวเอง ทั้งนี้ ธรรมชาติของธุรกิจ หากไม่มีการพัฒนา สินค้าใหม่ๆ คิดค้นลูกเล่นใหม่ การขายของก็จะได้น้อยลง คนทักมามีน้อยลง นี่คือหลักกว้างๆของคนที่คิดจะรวยต้องเข้าใจกรอบนี้ก่อน” กัญสพัฒน์ ระบุ

ด้าน กิตติ กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ ก่อนจะขายของออนไลน์ จะต้องวางแผน โดยเฉพาะการทำบัญชี ต้นทุนสินค้า ค่าโฆษณา ที่ต้องมีการทำ
สถิติให้ดี นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนที่มักสังเกตพฤติกรรมของลูกค้า และคนทั่วไป ว่าแนวโน้มพฤติกรรมการใช้สินค้าเปลี่ยนไปอย่างไร ส่วนการเลือกสินค้ามาขายนั้น อยู่ที่ความชอบและความรักของเราเองว่ามีความรู้ขนาดไหน

“โดยการขายของออนไลน์ต้องลงทุน จริงจัง ต้องทำให้รูปสวย ไม่ใช่การหามาจากอินเตอร์เน็ต ต้องทำรูปให้สวย ให้ข้อมูลสินค้า ราคา
ช่องทางติดต่อที่ชัดเจน ต้องสามารถติดต่อทางไลน์ หรือ เบอร์โทรติดต่อได้ ซึ่งในส่วนการรับออเดอร์ลูกค้า หากเราไปเที่ยว แล้วลูกค้าทักมา ก็จะสามารถตอบลูกค้าได้ เพราะปัจจุบันหากเราช้าแค่เพียง 10 นาที ลูกค้าอาจหันไปหาค้นอื่นทันที นอกจากนี้ในส่วนการแพ็กเกจ ก็ควรทำออกมาให้ดี ควรลงทุนนิดหน่อยเพื่อสร้างความมั่นใจ นอกจากนี้ยังต้องมีช่องทางการชำระเงินที่ดี ถ้าสามารถเลือกธนาคารที่ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการโอนได้จะยิ่งดี” กิตติ ระบุ

และว่า “โดยจากการสอบถามพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์จริงๆ ไม่ได้สบายเหมือนทำงานประจำ เพราะใช้เวลาเยอะ แถมอาจจะเหนื่อยกว่าด้วยซ้ำ ร้านค้าที่กว่าจะรวยได้ส่วนใหญ่ใช้เวลา ประมาณปีครึ่ง ที่กว่าจะสร้างฐานะขึ้นมาได้ โดยการตอบลูกค้าถือเป็นส่วนสำคัญมาก ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ต้องบริหารกระแสเงินสดให้ดี รวมถึงการสำรวจดูคู่แข่งว่ามีคนขายของคล้ายกับเราหรือไม่” กิตติให้ข้อคิดสำคัญ

ในส่วนการเตรียมทุนนั้น กิตติ เห็นว่า โดยการลงทุนควรเตรียมเงิน 40% สำหรับการโปรโมต เพราะคนซื้อของออนไลน์ส่วนใหญ่ตัดสินจากรูป นอกจากนี้ยังต้องมี การสำรองเงินสด รวมถึงควรสำรองเงินไว้ อีก 10%ในการแพคเกจสินค้าให้ดี

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะขายอะไรนั้น โดยหลักการเลือกว่าจะขายอะไร กัญสพัฒน์ อธิบายสั้นๆว่าหากจะขายอะไร ให้ลอง ลิสต์สินค้าต่างๆ โดยให้คะแนนระหว่างสินค้าที่ชอบ กับความสามารถในการเข้าถึงสินค้าว่าง่ายแค่ไหน เช่นบ้านอยู่ใกล้แหล่งขายส่งหรือไม่ หรือ สามารถผลิตขึ้นเองได้หรือไม่ โดยสามารถนำสินค้าแต่ละชนิดมาให้คะแนนทั้งความชอบ ความรู้ส่วนตัว และ ความสามารถในการเข้าถึงสินค้าในราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งการประเมินจากคะแนนที่ได้ จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการนำมาขาย และน่าจะได้กำไร โดยการขายมีทั้งการซื้อมาขายไป การขายแบบเป็นตัวแทนจำหน่าย และการพรีออเดอร์ ซึ่งผู้สนใจก็ต้องดูว่าแต่ละคนเหมาะกับรูปแบบไหน

โดย เคล็ดลับการขายได้ คือการรู้จักลูกค้า ต้องวิเคราะห์ว่าลูกค้าแบบไหนที่จะซื้อของๆเรา โดยการขายสินค้าต้องกำหนดลักษณะ พิเศษของสินค้าว่าแบรนด์ของเราดีกว่าที่อื่นอย่างไร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลูกค้าจะได้สิ่งดีๆอะไรจากเราไป ยิ่งจุดประสงค์มี คุณค่ายิ่งดี ข้อดีคือเพื่อนำเรื่องราวดังกล่าวไปเขียนโฆษณาได้นั่นเอง นี่คือหลักการตลาดยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องขายกันตรงๆ โดยเมื่อหาสินค้ามาขายได้เเล้ว ก็ต้องพิจารณาเรื่องของราคาว่าควรถูกไว้ก่อน ซึ่งการตลาดในยุคนี้เป็นเรื่องของคุณลักษณะทางอารมณ์ เช่นการขายเรื่องของมิตรภาพ ศักดิ์ศรี โดยบริษัทโฆษณาใหญ่ๆนิยมใช้เทคนิคนี้ เพราะเป็นเรื่องของอารมณ์ หากอยากขายของออนไลน์ให้ลองคิดสโลแกนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ จับต้องได้แบบจี๊ดๆ แบรนด์หรือสินค้าของเราอาจติด ตลาดได้

ทั้งสองทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้หากคนไทยคิดว่ามีสินค้าที่อาจจะติดตลาดได้ ก็ขอให้รู้ไว้ว่าคนต่างชาติไม่นิยมซื้อสินค้าทางเฟสบุ๊ก ไอจี
ทวิตเตอร์ แต่จะเป็นเว็บไซต์อย่างอเมซอน หรือ อีเบย์ เป็นต้น ในสวนเทคนิคกาโพสตขายหลังตั้งเพจในเฟสบุ๊ก นอกจากนี้ คนที่มีหน้าร้านออนไลน์ ก็ควรต้องมีร้านจริงด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่คนที่มีร้านจริง ก็ควรรีบเข้าสู่ร้านออนไลน์ด้วยเช่นกัน

ที่มา มติชนออนไลน์