QC ทุเรียน ตั้งแต่ ป.6 ก่อนขึ้นแท่น CEO ส่งออกผลไม้ 18,000 ตันต่อปี

QC ทุเรียน ตั้งแต่ ป.6 ก่อนขึ้นแท่น CEO ส่งออกผลไม้ 18,000 ตันต่อปี

“แพลททินัม ฟรุ๊ต” คือชื่อบริษัทชั้นนำระดับท็อป 5 ของไทยด้านส่งออกผลไม้สดและสินค้าเกษตร อย่าง ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว สู่ตลาดทั่วโลก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ยุโรป มีปริมาณส่งออกเฉลี่ยกว่า 18,000 ตันต่อปี

ปัจจุบัน “แพลททินัม ฟรุ๊ต” มีบริษัทลูก 4 แห่ง ดำเนินธุรกิจส่งออกผัก ผลไม้ ยังประเทศต่างๆ บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ภายในและระหว่างประเทศ พร้อมลานโหลดสินค้าให้บริการ Shipping ระหว่างประเทศ บริการจัดทำเอกสารและเป็นตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร และให้บริการลานรับฝากตู้คอนเทนเนอร์ มี คุณเฟย-ณธกฤษ เอี่ยมสกุล นั่งเก้าอี้ตำแหน่ง CEO

 เริ่มต้นส่งมะม่วงสด 

ก่อนหันมาทุเรียน แต่ขาดทุน

 “คุณพ่อทำงานบริษัท คุณแม่เป็นแม่บ้าน มักใช้เวลาว่างช่วงเสาร์-อาทิตย์ ไปซื้อผลไม้อบแห้ง ไปส่งตามร้านค้าเล็กๆ บนห้างมาบุญครอง ตอน ป.2 – ป.3 ผมชอบตามคุณแม่ไปส่งของด้วย” คุณเฟย ย้อนช่วงเวลาวัยเยาว์ของเขา แววตาเป็นประกาย

ก่อนพูดคุยต่อด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้ม เป็นกันเองว่า คุณแม่ของเขาหารายได้เสริมเข้าบ้าน อย่างนั้นอยู่พักใหญ่ รู้สึกไม่เวิร์ก เลยเริ่มมองหาสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ ประกอบกับน้าสาวของเขา ทำงานเป็นพยาบาลอยู่ที่ไต้หวัน จึงเริ่มส่งมะม่วงสด ไปขายที่ไต้หวัน โดยไปรับจากตลาดสี่มุมเมือง นำมาแพ็กใส่กล่องส่งไปขาย ทำได้ไม่นานหันมามองหาสินค้าตัวใหม่ สุดท้ายจบที่ ทุเรียน

คุณเฟย- ณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด

“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทุเรียนไทยกิโลละ 5-8 บาท ขนส่งไปไต้หวันทางเครื่องบิน ยังไม่มีการขนส่งทางเรือ แต่ผลตอบรับไม่ดี ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเรากินทุเรียนสุก ก็ส่งไปแบบสุกๆ มันก็แตกเสียหาย เลยเปลี่ยนมาคัดแบบดิบส่งไป แต่มีทั้งทุเรียนอ่อน ทุเรียนแก่ ซึ่งตอนนั้นไม่มีความรู้ต้องคัดยังไง อาศัยทดลองส่งไปเรื่อยๆ ช่วงแรกเลยขาดทุน” คุณเฟย เล่าอย่างนั้น

แม้จะไม่ได้กำไรในทันทีที่หันมาส่งทุเรียนไปขายที่ไต้หวัน แต่คุณแม่ของคุณเฟย ยังเดินหน้าทำต่อ เพราะมองเห็นช่องทางอยู่ แต่ต้องมีการเพิ่มทักษะในอาชีพ คือต้องมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปคือ “ต้อง QC ทุเรียนเป็น”

“ป้าหวาน แม่ค้าทุเรียนตลาดสี่มุมเมือง สอนให้คุณแม่ของผมเรียนรู้วิชาคัดทุเรียน จากนั้นท่านนำไปถ่ายทอดต่อให้ทีม QC ของบริษัท ซึ่งตอนนั้นผมเรียนอยู่ ป.6 ขอเรียนรู้ไปด้วย เพราะอยากได้ค่าแรงเพิ่มจากช่วงปิดเทอม มีหน้าที่รับโยนทุเรียน ได้วันละ 50 บาท แต่ถ้าเป็นทีม QC ทุเรียน ได้วันละ 500 บาท เลยนะ” คุณเฟย เล่าก่อนหัวเราะร่วน

เรียนรู้หลายบทเรียน

ปรับแผน เพื่อไปต่อ

คุณเฟย นักธุรกิจหนุ่ม เจ้าของเรื่องราวครั้งนี้ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2549 ระหว่างการศึกษา มีส่วนบริหารกิจการของครอบครัวในนาม บริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด มาโดยตลอด จนเชี่ยวชาญในธุรกิจส่งออกผักผลไม้และเข้าใจสภาพตลาดของลูกค้าในต่างประเทศเป็นอย่างดี

ปี พ.ศ. 2550 เดินทางไปเรียนรู้เทรนด์ตลาดผักผลไม้และความต้องการของผู้บริโภคที่ไต้หวัน 1 ปี ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่สหราชอาณาจักร ช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 และกลับมาบริหารธุรกิจโรงงานลำไยของครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

ก่อนตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด เพื่อส่งออกผลไม้คุณภาพสูงไปยังต่างประเทศ ทำการขยายตลาด สร้างการเติบโตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยปี พ.ศ. 2565 มียอดขายรวมประมาณ 5,200 ล้านบาท

แม้เรื่องราวความเป็นมาของเขา จะสรุปได้ใน 3 ย่อหน้าข้างต้น และจบลงท้ายด้วยยอดขายมหาศาล แต่ระหว่างทางกว่าจะมาถึงวันนี้ บอกเลย…ไม่ง่าย

“ตอนอยู่ไต้หวัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตลาด คือไปขายทุเรียน ควบคู่กับอบรมประกาศนียบัตร คือเรียนแค่ครึ่งวันเช้า แต่ผมตื่นมาขายของตั้งแต่ตี 4 และไปหาลูกค้าตอนตี 5 ช่วงนั้นได้เรียนรู้ได้ว่า ของสดยิ่งขายหมดเร็วยิ่งดี เพราะถ้าขายหมดช้า ต้องมีการลดราคา ซึ่งจะมีลูกค้าประเภท ตอนเช้าไม่ซื้อ มารอซื้อตอนเย็น เยอะมาก” คุณเฟย เล่าประสบการณ์

คุมงาน

ก่อนเผยประสบการณ์ต้องเจอกับคู่ค้าต่างแดนบางราย ใช้ “เล่ห์เหลี่ยม” จนพ่อค้ามือใหม่อย่างเขา แทบเอาตัวไม่รอด

“เคยมีคนรับทุเรียนเราไปขาย แล้วอ้างว่าขึ้นราแล้วจะมาเรียกร้องค่าเสียหาย สมัยนั้นผมไม่รู้ ก็โทร.แจ้งทางเมืองไทย แม่บอกจะขึ้นราได้ไงทำมาเป็น 20 ปีแล้ว แต่สุดท้ายต้องยอมลดราคาให้ ล็อตแรกๆ เลยขาดทุน แต่สุดท้ายมาสืบรู้เขามีทริก คือแกะทุเรียนออกจากกล่องไปวางบนพื้น ก่อนเอาน้ำสกปรกสาดเสร็จแล้วเอาผ้ามาคลุมให้ชื้น ทุเรียนจะขึ้นราไวมาก” คุณเฟย เผยเรื่องราวที่ประสบมา

หลังจากทราบเบื้องหลังลูกค้าบางรายที่ทำการค้าขายแบบไม่ซื่อสัตย์อย่างนั้น นักธุรกิจหนุ่มจากเมืองไทย จึงตัดสินใจเลิกคบค้า เพราะเชื่อว่าต่อไปก็ต้องมีเล่ห์เหลี่ยมใหม่ๆ มาใช้อีก

เขาจึงแสวงหาคู่ค้าเจ้าอื่น แต่ยึดหลักการ “ส่งของ” ให้อยู่ในมือคู่ค้าน้อยที่สุด เช่น ต้องการ 1,000 กิโลกรัมส่งให้แค่ 500 กิโลกรัม เพื่อให้มีความต้องการในสินค้าจากเขา และก็ไม่กลัวว่าจะหนีไปหาของจากเจ้าอื่น เพราะมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ถ้าใครรับไป ขายหมดไม่เหลือแน่นอน

ยึดหลักพึ่งพา ไม่ใช่แค่คู่ค้า

ก้าวต่อไปคือ ความท้าทาย

กระทั่ง ปี พ.ศ. 2553 คุณเฟยได้ก่อตั้งบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด เพื่อส่งออกผลไม้คุณภาพสูงไปทั่วโลก มีการบริหารจัดการตั้งแต่ Farming การดูแลและควบคุมคุณภาพผลไม้ พร้อมควบรวมกิจการ บริษัท 888 ผักและผลไม้ และบริษัทในเครือ เพื่อให้บริการแบบ One Stop Service และขยายการส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ทวีปยุโรป และออสเตรเลีย

ไม่หยุดนิ่ง

“สินค้าที่ส่งไปอินโดนีเซีย อย่างแรกคือ ลำไยสด เพราะผมไม่ชอบสต๊อกของ ตอนนั้นยังไม่กล้าส่งทุเรียน เพราะความเสี่ยงยังเยอะอยู่ แต่ส่งลำไยไปตอนแรกก็ขาดทุน เพราะยังไม่รู้ว่าคุณภาพที่ลูกค้าต้องการคืออะไร และยังไม่รู้รูปแบบการขาย คิดเองว่าคงเหมือนกันทุกที่คือ เข้าไปในตลาดส่ง เข้าไปในห้าง” คุณเฟย เผยให้ฟังอย่างนั้น

เมื่อการเปิดตลาดในอินโดนีเซีย ไม่ใช่เป็นแบบที่คิด เขาจึงค่อยๆ เรียนรู้ และปรับปรุงวิธีการหลายอย่าง ก่อนเข้าไปเสนอตัวเป็นซัพพลายเออร์ ให้กับคู่ค้าขนาดกลาง มีการสร้างแบรนด์ร่วมกัน ซึ่งตลาดให้การตอบรับดี

“หลักการทำธุรกิจในแบบของผม คิดอยู่อย่างเดียวคือ ทำยังไงก็ได้ ให้ลูกค้าของเรามีกำไร ส่วนเราในฐานะซัพพลายเออร์อยู่ได้ ยอดขายก็จะมา” คุณเฟย บอกจริงจัง

และว่า

“มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่ผมยึดถือ คือการทำให้คู่ค้ารู้สึกว่ามีการพึ่งพากันและกัน อย่าทำให้คู่ค้ารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ หรือต้องได้เปรียบเสมอ แต่ให้เขาทำเพื่อเราและเราก็ทำเพื่อเขา แบบนี้ถึงจะอยู่ด้วยกันตลอด เกิดความรู้สึกไม่ใช่แค่คู่ค้า แต่คือเพื่อนจริงๆ พอเป็นแบบนี้การทำธุรกิจก็ราบรื่น ทำให้มีเวลาไปเปิดตลาดใหม่ๆ ในประเทศอื่นต่อได้” คุณเฟย บอกหลักคิดสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

พร้อมไปต่อ

สนทนามาถึงตรงนี้ มีคำถามถึงเป้าหมายต่อไป คุณเฟยยิ้มน้อยๆ ก่อนบอก ตอนเด็ก เป็นคนชอบสตางค์ เห็นเพื่อนซื้อของเล่นก็อยากได้บ้าง เลยทำงานแลกมาตลอด ช่วงเริ่มต้นจัดโครงสร้างบริษัท เจอแต่ปัญหาต้องหาทางแก้ไข เป็นปีที่นอนน้อยจนสุขภาพเกือบแย่ พอมาถึงวันนี้ ธุรกิจที่ดูแลมีมูลค่าหลายพันล้านบาทแล้ว สิ่งที่มองกลับไม่ใช่ตัวเงินแล้วที่สำคัญ แต่เป็นเรื่องของ Passion มากกว่า

“เคยมีโอกาสนั่งทานข้าวและได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ระดับเอเชีย ท่านเปรยว่า พอมาถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องเงินแล้ว ฉะนั้น ควรต้องหาความท้าทาย ทำยังไงให้บริษัทของเราเติบโตมีมูลค่า ก็พาเข้าตลาดหลักทรัพย์สิ” คุณเฟย เผย

การนำบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงกลายมาเป็น Passion ใหม่ ของคุณเฟย เพราะการแปรรูปบริษัท เป็นบริษัทมหาชน ก็เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐาน สร้างการยอมรับ และสร้างความเชื่อถือให้กับคู่ค้าหน้าใหม่ โดยเฉพาะคู่ค้าต่างประเทศ ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งก่อนหน้านี้อาจเข้าไม่ถึง

“การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้น เป็นเหมือนบันไดแห่งมาตรฐานที่จะทำให้แพลททินัม ฟรุ๊ต ก้าวข้ามขีดจำกัด เติบโตจากบริษัทส่งออกผลไม้ที่มียอดขายปัจจุบัน 5 พันกว่าล้านบาท ไปสู่ยอดขายแตะหมื่นล้านบาท” คุณเฟย ย้ำอย่างมั่นใจ ว่าเป็นเป้าหมายที่จะเห็นผลในไม่ช้านี้