ช่วงที่เหลือปี 66 คาดต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

ช่วงที่เหลือปี 66 คาดต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แต่ทำไมธุรกิจโรงแรมที่พักยังเจอโจทย์ท้าทาย

ในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดชาวต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากช่วง 1 ม.ค. – 28 พ.ค. 2566 และทั้งปี 2566 ชาวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 28.5 ล้านคน แต่การท่องเที่ยวก็ยังมีหลายโจทย์ที่ยังเป็นอุปสรรครออยู่ อาทิ ความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่ยังมีข้อจำกัด

และยังต้องใช้เวลาการปรับรูปแบบการยื่น E-Visa ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนในระยะสั้น โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์ขนาดใหญ่ ซึ่งคงต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวและสร้างความคุ้นชินกับระบบการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงยังต้องติดตามปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจมีผลต่อการฟื้นตัวของตลาดในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและที่พัก ยังเผชิญโจทย์ท้าทาย แม้ประเมินว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท แต่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อทริปยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด ส่วนการฟื้นตัวของธุรกิจยังไม่ทั่วถึงและยังกระจุกตัวแต่เมืองท่องเที่ยวหลัก และที่สำคัญ ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นหลายด้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า โจทย์สำคัญของภาคการท่องเที่ยวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ในระยะสั้น คงเป็นเรื่องการดูแลประเด็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ทั้งปริมาณแรงงานที่ต้องเติมเพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจ ซึ่งมีแนวโน้มที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงขึ้น

และความคาดหวังของแรงงานว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น หลังพรรคการเมืองชูนโยบายจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถึงแม้ว่าธุรกิจอาจจะไม่ได้จ้างแรงงานอิงตามค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด และหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาก็จะยังไม่หายไป ดังนั้น การเร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่อาจพิจารณาแนวทางการให้แรงจูงใจด้านภาษีหรืออื่นๆ หากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้มากกว่าอัตราการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ธุรกิจมีการปรับใช้เทคโนโลยีได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เป็นต้น

นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ก็เป็นโจทย์สำคัญเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสูง การกระจายรายได้ไปยังเมืองท่องเที่ยวรอง และการผลักดันให้ผู้ประกอบการมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ