เผยแพร่ |
---|
ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ธุรกิจประเภทไหน ได้รับผลกระทบบ้าง
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยลูกจ้างให้มีความสามารถในการใช้จ่ายได้มากขึ้นท่ามกลางภาวะค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้ภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แรงงานจำนวนมากมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
หากแยกตามประเภทธุรกิจ ธุรกิจเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ผลสุทธิต่อความสามารถในการทำกำไรจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการทั้งฝั่งรายได้และต้นทุนซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจและกิจการ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล แต่โจทย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนจะคงอยู่ต่อเนื่องไป โดยเฉพาะเมื่อไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ประกอบกับทักษะแรงงานที่มีอยู่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สอดคล้องไปกับความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปตามพลวัตทางธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่
อีกทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการแรงงานก็คงจะต้องมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับค่าครองชีพและแข่งขันได้ในตลาด ฯลฯ
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าอัตราการเพิ่มของต้นทุนแรงงาน จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรที่จะเข้ามาช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนี้ รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบางให้สามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน