เผยแพร่ |
---|
เปิดทำเนียบสายมู! 5 อันดับ ความเชื่อด้านโชคลาง ของคนไทย อะไรติดโผบ้าง
เรื่อง ความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาจากความกังวลและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน และมีปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เกิดขึ้นได้ง่าย เช่น โรคอุบัติใหม่ และโรคระบาดอันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเห็นต่างในสังคม รวมทั้ง การที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
ทำให้เกิดธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อมากมาย ซึ่ง ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อ มักเป็นธุรกิจเพื่อการสนับสนุนการตลาด ซึ่งถือเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด โดยมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพียงปีละ 1-2 ราย และมีจำนวนนิติบุคคล 93 ราย คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.01% ของจำนวนนิติบุคคลทั้งหมด เนื่องจากธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินกิจการในรูปแบบบุคคล ยังไม่นิยมจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเท่าใดนัก
สำหรับความเชื่อด้านโชคลางมีหลายอย่าง โดยบทความของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้อ้างถึง บทวิเคราะห์จาก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ ความเชื่อด้านโชคลางของคนไทย 5 อันดับแรก ได้แก่
1. การพยากรณ์
2. พระเครื่องวัตถุมงคล
3. สีมงคล
4. ตัวเลขมงคล
5. เรื่องเหนือธรรมชาติ
ทั้งนี้ ในการเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาด้านความเชื่อโชคลาง ส่วนใหญ่เป็นช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ รองลงมาคือ บุคคลรอบข้าง และการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ ตามลำดับ
จากช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาความเชื่อด้านโชคลางของคนไทย ส่วนใหญ่อยู่ในโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ ทำให้ความเชื่อด้านโชคลางถูกนำไปปรับใช้ในด้านการตลาด โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ เช่น การพยากรณ์รายวัน รายเดือน รายสัปดาห์ ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารออนไลน์ รวมไปถึงเว็บไซต์ของร้านขายสินค้าทางออนไลน์ และ LINE OA ซึ่งดึงดูดเพิ่มยอดผู้ชมของเว็บไซต์และการเพิ่มเพื่อนใน LINE OA เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนเอง
นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องการพยากรณ์ ในส่วนของสีมงคล ก็ถูกนำไปใช้ในการตลาด เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าและเครื่องประดับ ให้ผู้บริโภคใช้ในการแต่งตัวตามสีมงคลในแต่ละวัน การเลือกสีของธนาคารที่เป็นสีมงคลซึ่งเหมาะกับแต่ละคน นอกจากนี้ ความเชื่อในเรื่องตัวเลขมงคล ยังถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น ถูกนำมาใช้กับเบอร์โทรศัพท์ ขายเป็นเบอร์มงคล โดยมีราคาสูงกว่าเบอร์ทั่วไป รวมถึงทะเบียนรถยนต์ ที่ถูกนำไปขายเป็นทะเบียนเลขสวย เลขมงคล ซึ่งเปิดให้มีการประมูลสำหรับผู้ที่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อ เพื่อส่งเสริมการตลาด มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เนื่องจากนิยมประกอบกิจการในนามบุคคล แต่ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ หรือขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการที่หลากหลายขึ้น การจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือ ต่อยอดทางธุรกิจได้