อากาศร้อน คนตื่นตัวเพิ่ม ปัจจัยหลัก กระตุ้นธุรกิจ ต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม

อากาศร้อน คนตื่นตัวเพิ่ม ปัจจัยหลัก กระตุ้นธุรกิจ ต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม

ปีนี้ เป็นปีแรก ที่ผมรู้สึกว่าอากาศร้อนแบบ “ทรมาน”

เราเริ่มไม่ได้พูดกันแค่อุณหภูมิอย่างเดียวแล้ว แต่ทุกครั้งที่เราพูดถึงระดับร้อนเย็นของอากาศ เราต้องพูดไปด้วยกัน 2 อย่าง คือ อุณหภูมิ และ ดัชนีความร้อน

แต่ก่อนเราพูดว่าอุณหภูมิเท่าไหร่ ก็จบ เข้าใจร่วมกัน ว่าร้อนเย็นแค่ไหน แต่ตอนนี้ “ดัชนีความร้อน” ดูจะสำคัญกว่า ว่า “เรารู้สึกร้อนแค่ไหน” แม้อุณหภูมิจะไม่มากเท่าที่เรารู้สึกร้อน

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ธุรกิจทั้งหลายนั่นแหละ เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญ ที่ช่วยสร้างก๊าชเรือนกระจก ส่งผลให้โลกร้อน

ถ้าไปดูเทรนด์ธุรกิจของปี 2023 เราจะพบว่า หนึ่งในธุรกิจที่ติดเทรนด์แทบทุกสำนักคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “รักษ์โลก”

ดังนั้น จึงไม่แปลก ถ้าองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ จะหันมาทำตนเป็น “คนดี” ของโลกใบนี้ หันมารักษ์โลก

ในปีนี้ เราจึงได้ยินคำเหล่านี้บ่อยขึ้น คำว่า โลกรวน, Net Zero, Circular Economy, BCG Model, ESG

แต่ละองค์กร มีโครงการดีๆ ที่ข้องเกี่ยวกับคำต่างๆ ที่ยกขึ้นมาข้างต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มุ่งไปในแนวทางยื้อยุดฉุดกระชากให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เลวร้ายช้าลง

เราคงไม่ต้องพูดถึงโลกร้อนแล้ว เพราะร้อนเป็นมาตรฐาน ร้อนเป็นปกติ แต่ “โลกรวน” มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งร้อน ทั้งฝน ทั้งพายุ ทั้งแล้ง มากันมั่วไปหมด รวนของแท้

Net Zero ความพยายามทำให้การปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ เริ่มมานานแล้ว พูดกันมาตั้งแต่การก่อเกิดข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตที่ญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงข้อตกลงปารีส

Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ความพยายามนำสิ่งที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เพียงแค่การรีไซเคิลเท่านั้น

BCG Model ที่จัดแพ็ก 3 นำเอาเรื่องของ Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว มามัดรวมกัน

ESG คือ เรื่องราวที่มัดรวม Environment, Social, Governance เข้าไว้ด้วยกัน ดูแลทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กร

ซึ่งหลังๆ ในมุมมองของนักลงทุน การจะซื้อหุ้นบริษัทใด มักถามหานโยบายด้าน ESG ว่ามีโครงการดีๆ อะไรให้ชุ่มชื่นหัวใจบ้าง ที่ยืนยันว่า “เป็นคนดี”

ที่เกริ่นมาข้างต้น อยากบอกว่า “การเป็นคนดี” หรือ “ธุรกิจที่ดี” กับโลกใบนี้ กลายเป็น “เรื่องจำเป็น” แล้วล่ะครับ

สังเกตได้จาก บรรดาชื่อเรียกต่างๆ ที่ผมหยิบยกมานั้น ล้วนข้องเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” ทั้งสิ้น

ผู้บริโภคตื่นตัวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่บรรดาธุรกิจต่างๆ ทำเอาไว้ บางธุรกิจไม่ได้ร่วมทำกับเขา แต่ผู้บริโภคก็พร้อมเหมารวมว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย

ดังนั้น ประเด็นแรก ที่อยากบอกคือ ทุกธุรกิจ จำเป็นแล้วแหละ ที่ต้องลุกขึ้นมาแสดงความเป็นคนดีในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ถ้าไม่ได้ส่งเสริมการดูแลรักษ์โลก ก็เพียงแค่ ไม่เป็นหนึ่งในตัวการทำลาย

การรักษ์โลก ไม่ใช่กระแส แล้วทำตามๆ ชาวบ้าน แต่ควรเป็น “จิตสำนึก” โดยแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่งในองค์กรเท่านั้น ไม่ใช่เพียง CEO เท่านั้น ที่มีแนวคิด แต่ทุกคนในองค์กร ต้องซาบซึ้ง มีหัวจิตหัวใจรักษ์โลกไปด้วย

บางองค์กร รู้สึกว่า ฉันมีทุนน้อย จะไปทำโครงการต่างๆ ได้อย่างไร

แน่นอนว่าทุกองค์กร คงไม่สามารถไปปลูกป่าเป็นล้านไร่แบบ ปตท. หรือทำโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนได้แบบ SCG แต่ทุกองค์กร “ช่วยสร้างจิตสำนึก” ให้ผู้คนได้

ใกล้ตัวสุด ก็ “คนในองค์กร”

คิดเล่นๆ นะครับ เราปลูกป่าเป็นล้านไร่เท่า ปตท. ไม่ได้ แต่เราชวนพนักงานของเราทุกคนปลูกต้นไม้ที่บ้านได้ บ้านใครมีที่ดิน ชวนปลูกไม้ยืนต้น ใครอยู่คอนโดฯ ชวนปลูกไม้ในกระถาง

ในออฟฟิศ ก็ควรส่งเสริมให้มีการใช้ต้นไม้ประดับ มุมโน้นมุมนี้  ชวนชุมชนรอบๆ บริษัทปลูกต้นไม้ ชวนพนักงานเพาะต้นกล้าไม้ แล้วไปร่วมกับชาวบ้านปลูก ฯลฯ โครงการง่ายๆ แบบนี้ ต้นทุนจะสักเท่าไหร่กันเชียว

เวลาอากาศร้อน เราพูดกันถึง “ฮอตสปอต” จุดความร้อนที่โชว์สีแดงไปทั่ว ทำไมเราไม่มาช่วยกันรณรงค์ให้เกิด “คูลสปอต” แสดงจุดสีเขียวที่มีต้นไม้ ต้นเล็กต้นน้อย ที่เราส่งเสริม ชักชวน ให้เกิดการปลูก อย่าดูถูกว่าต้นเล็กแล้วไร้ค่า

ถ้าพนักงาน 1 คน ปลูก 1 ต้น คนทำงานบริษัท คนอยู่ในองค์กรธุรกิจเป็นล้านคน ก็เป็นล้านต้นแล้ว

หรือการสร้างค่านิยม ใช้สิ่งของหมุนเวียน เริ่มง่ายๆ ตั้งแต่กระดาษในสำนักงาน ที่ควรใช้ให้ครบทั้ง 2 หน้า เอกสารในสำนักงาน ควรใช้กระดาษที่ใช้แล้วเพียงหน้าเดียว นำมาใช้อีกหน้าหนึ่ง ไม่ต้องคำนึงเรื่องสวยงามมากเกินเหตุ เอาเนื้อหาข้อมูลถูกต้อง ประหยัดกระดาษได้ด้วย

ส่งเสริมค่านิยม การใช้สิ่งของต่างๆ ให้คุ้มค่า หรือส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ใครมีไอเดียประหยัดทรัพยากรต่างๆ หรือสามารถนำมาดัดแปลง นำมาใช้ได้คุ้มค่า มีรางวัลให้ นำไอเดียเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้จริงๆ เพื่อให้พนักงาน รู้สึกว่า สิ่งที่คิด สิ่งที่ออกไอเดียไป ไม่สูญเปล่า รางวัลมากน้อย ไม่สำคัญเท่ากับ ความภูมิใจ

โลกจะร้อน โลกจะรวน เราควรตระหนัก การทำธุรกิจ ไม่ใช่เพียงการแสวงหากำไรจากผู้บริโภคเท่านั้น แต่การทำธุรกิจในปัจจุบัน ต้องเป็นการผสานความสมดุลระหว่าง การสร้างผลกำไรที่เหมาะสม และ การสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด

ผู้บริโภค ไม่ได้ต้องการองค์กรธุรกิจที่เก่งกาจเรื่องทำกำไร แต่ผู้บริโภคอยากได้องค์กรธุรกิจที่เป็น “คนดี” ของสังคม