ผู้ประกอบการไทยเฮ ครม. ไฟเขียว ปรับเกณฑ์การส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว ครอบคลุมกว่าเดิม

ครม. ไฟเขียว เปิดทางส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผสมเมล็ดกาแฟในประเทศกับนำเข้า เพิ่มโอกาสส่งออก

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลการส่งออกกาแฟให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดภายในประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศไปยังต่างประเทศได้ จากเดิมที่สามารถส่งออกได้เพียงผลิตภัณฑ์กาแฟที่แปรรูปจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้ กาแฟคั่วจากเมล็ดกาแฟดิบหลายชนิดที่นำมาผสมกันได้ เช่น กาแฟบราซิลและกาแฟเคนย่า ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาผสมกับเมล็ดกาแฟดิบที่ผลิตภายในประเทศ เช่น กาแฟอาราบิก้า ส่วนใหญ่ผลิตได้ทางภาคเหนือ เช่น กาแฟดอยช้าง และกาแฟโรบัสต้า ส่วนใหญ่ผลิตได้ทางภาคใต้ เช่น กาแฟจาก จังหวัดระนอง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงประกาศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ใช้บังคับมานาน โดยแก้ไขส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้

1. เพิ่มคำนิยาม “เมล็ดกาแฟคั่ว” หมายความว่า เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว ทั้งที่บดแล้ว และยังไม่บด (จากเดิมไม่มี)

2. ปรับแก้กรณีที่ไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organization : ICO) โดยเพิ่มกรณีการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วและเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศ (จากเดิมไม่มี)

เนื่องจากแนวทางการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของ ICO กำหนดว่าไทยควรออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเท่านั้น ซึ่งกรณีนำเมล็ดกาแฟไปผสม ไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า อีกทั้ง ข้อบังคับของ ICO ไม่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้สำหรับสินค้ากาแฟที่มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

3. ปรับแก้ข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตในการส่งออก และไม่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเพิ่มกรณีส่งคืนสินค้ากาแฟกลับประเทศต้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกาแฟไทยที่ได้สินค้ากาแฟไม่ตรงตามความต้องการหรือสินค้ากาแฟนั้นเสื่อมสภาพ (จากเดิมไม่มี)

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนสาระสำคัญอื่นๆ ยังคงเดิม อาทิ ให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของ ICO ซึ่งออกโดยกรมการค้าระหว่างประเทศ ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกาแฟไทย สามารถส่งออกกาแฟแปรรูปที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบในประเทศได้ และทำให้ผลิตภัณฑ์กาแฟแปรรูปเพื่อการส่งออกมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตเมล็ดกาแฟคั่วในประเทศผสมกับเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าและเพิ่มโอกาสการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

 

 


 

ครั้งแรก! กับการรวมตัวกันของสุดยอดฟู้ดกูรูระดับประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะทางอาหารแบบครบรส ในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อิ่ม อร่อย จัดจ้าน ได้ความรู้ แบบถึงรสถึงชาติ ในงาน UPSKILL THAILAND 2023 “ถึงรส ถึงชาติ” เส้นทางเศรษฐี, ศิลปวัฒนธรรม และ มติชนอคาเดมี ผนึกกำลังนำองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญมาร่วมกันพัฒนาทักษะด้าน “อาหาร” ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของไทยอย่างรอบด้าน เชื่อมโยงถึงกันด้วยกิจกรรม 3 มิติ

ได้แก่ Talk, Taste และ Tips ฟังเสวนาจากฟู้ดกูรูระดับประเทศ, ชิมรสชาติอาหารจานเด็ดจากเชฟชื่อดัง และฝึกทำอาหารพร้อมเรียนรู้ทิปส์ต่างๆ กับตัวจริงอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สนใจหรือผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจด้านอาหารได้นำไปประยุกต์ใช้เสริมความแกร่ง ต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อัปสกิลครบองค์รวม สร้าง Star ให้ Strong พร้อมแข่งขันในธุรกิจอาหารได้อย่างเต็มศักยภาพ ในงาน Upskill Thailand 2023 “ถึงรส ถึงชาติ” ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่มติชนอคาเดมี