น้ำท่วมใต้ ดันราคาปาล์มพุ่ง จับตา มี.ค. ผลผลิตลดฮวบ

นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาปาล์มดิบที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ กิโลกรัมละ 6-7 บาท เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เกษตรกรขายได้ กิโลกรัมละ 4.20 บาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าไปตัดปาล์มน้ำมันได้ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ในลุ่มน้ำตาปียังมีน้ำท่วมขังอยู่ ต้นปาล์มแช่น้ำนานกว่า 2 เดือนแล้ว ทำให้ต้นปาล์มขนาดเล็ก อายุ 1-5 ปี ล้มตายทั้งหมด 100% เพราะขาดออกซิเจน ส่วนปาล์มขนาดใหญ่ที่ติดดอกออกผล ยังไม่สามารถสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลง และต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะได้ 10 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูก 4.5 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม จากสต๊อกน้ำมันปาล์มที่ยังมีอยู่ 2.8-2.9 แสนตัน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ประกอบกับรัฐบาลปรับลดอัตราส่วนในไบโอดีเซล เหลือ บี 3 จึงทำให้สถานการณ์น้ำมันปาล์มไม่ขาดแคลน และเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ต่างจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลต้องประกาศนำเข้า

นางวิวรรณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องน้ำมันปาล์มในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งปกติปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดมากที่สุด แต่ในปีนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเบื้องต้นผลผลิตปาล์มอาจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม อีกทั้งยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำมันปาล์มในระยะต่อไปด้วย เพราะต้นปาล์มที่เสียหายนั้นจะให้ผลผลิตลดลงไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ จะเห็นได้จากกรณีน้ำท่วมในปี 2554 ส่งผลให้ผลผลิตปาล์มของเกษตรกรลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 12 ล้านตัน เหลือเพียง 10 ล้านตัน ในปี 2559

“ราคาปาล์มที่สูงขึ้น กลายเป็นภาระให้กับกลุ่มโรงกลั่น เพราะต้องรับซื้อปาล์มดิบราคาสูงแต่นำมากลั่นขายได้เพียงลิตรละ 32 บาทเท่านั้น กลไกการตลาดหยุดชะงัก อีกทั้งยังไม่สามารถผลักดันให้ส่งออกได้ เพราะราคาของไทยสูงกว่าเมื่อเทียบกับมาเลเซีย จึงต้องรอเดือนมีนาคมอีกครั้งว่าจะมีผลผลิตปาล์มและราคาจะเคลื่อนไหวในทิศทางใด” นางวิวรรณ กล่าว

รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีประมาณ 9.11 แสนตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด 9 แสนตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1.55 แสนตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 ที่ผลิตได้ 1.53 แสนตัน ทั้งนี้ เกษตรกรได้รับราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 5.73 บาท สูงขึ้น 3.43%