หมูเถื่อน กําเริบเสิบสาน ทำผู้เลี้ยงสุกร ขาดทุนยับ

“หมูเถื่อน” เหิมเกริมนำเข้าหนัก ทำผู้เลี้ยงหมูกระอัก ราคาดิ่ง หมูมีชีวิตเหลือ 72-73 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนเกือบ 100 บาท/กก. ขาดทุนยับ ประชุมด่วนร้องตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายแก้ปัญหา หากไม่ได้รับการแก้ไขเตรียมแจ้งความ-ร้อง DSI-ป.ป.ช.เอาผิด 

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากการนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศที่มีอย่างมโหฬาร ผ่านแหล่งต้นทางใหญ่นำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซื้อขายกันจริงดิ่งลงเหลือเพียง 72-73 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนผู้เลี้ยงรายย่อยตกเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัม ผู้เลี้ยงรายกลางต้นทุนอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนรายใหญ่อยู่ที่ 70 กว่าบาทต่อกิโลกรัม และราคายังมีทิศทางดิ่งลงอีก

สวนทางกับต้นทุนราคาอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่กำลังการบริโภคลดลง แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว แต่การบริโภคยังน้อย ส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายเล็กและรายกลางที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มกลับมาลงเลี้ยงใหม่ไม่สามารถอยู่รอดได้ ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่อยู่ได้เพียงประคองตัว เพราะราคาขายระดับนี้ไม่มีกำไร ดังนั้น จึงได้เสนอตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงสุกร กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เข้ามาแก้ปัญหากันอย่างจริงจังก่อนที่ผู้เลี้ยงจะตายกันหมด

“ราคาหมูตอนนี้ขึ้นกับจำนวนหมูเถื่อนที่เข้ามา หากเข้ามามากราคาถูกกดไว้ ตอนนี้ปริมาณหมูในระบบของคนเลี้ยง เป็นหมูแม่พันธุ์ยื่นอุ้มท้องเกิน 1 ล้านตัว จะคลอดช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2566 จะทำให้ปริมาณหมูภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันหมูขุนมีประมาณ 17-18 ล้านตัว ถ้าการนำเข้าหมูเถื่อนยังทะลักเข้ามา ราคาหมูดิ่งลงไปอีก คนเลี้ยงตาย โดยจะเริ่มปลดแม่หมูออก เพราะไม่มีเงินค่าซื้ออาหารสัตว์ให้กิน เพราะราคาอาหารสัตว์สูง คนจะกลับมาเลี้ยงใหม่ คงชะลอหยุดก่อนดีกว่า”

เล็งแจ้งความ-ร้อง DSI-ป.ป.ช.

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภาคมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกกรณีปัญหาหมูเถื่อน โดยแหล่งต้นทางใหญ่นำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง โดยการสำแดงเท็จว่า เป็นสินค้าอื่น โดยเฉพาะปลา และนำออกมาขายเกลื่อนตลาด ทำให้ราคาหมูดิ่งลงมาก ที่ประชุมได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางถึงความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงในแต่ละภาค ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมูเถื่อนที่มีการนำเข้าอย่างเป็นกระบวนการ มีความเหิมเกริมโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

ดังนั้น ข้อสรุปทางสมาคม ประกอบด้วย 1. เสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ตัวผู้เลี้ยงเองในนามสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 2. สมาคมจะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรให้เปิดเผยรายชื่อผู้นำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย เพื่อจะได้ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ในการเข้มงวดผู้นำเข้าที่ผิดระเบียบ 3. หากกรมศุลกากรไม่ยอมเปิดเผยอาจจะต้องแจ้งความ รวมถึงมีการหารือเรื่องการตั้งทนาย เพื่อทำเรื่องฟ้องร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะถือเป็นกระบวนการทำลายตลาดสุกรในประเทศ ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สมาคมได้เข้าพบผู้บริหารกรมศุลกากรที่แหลมฉบัง เพราะอยากทราบว่า ทำไมหมูเถื่อนถึงผ่านเข้าออกจากแหลมฉบังได้เป็น 1,000 ตู้ต่อเดือน ตลอดปีกว่าที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า กรมศุลกากรได้มีการตรวจสอบพบหมูเถื่อนในท่าเรือแหลมฉบัง 140 ตู้ สำแดงเป็น “ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง” ไม่ได้บอกเป็นเนื้อหมู และไปตรวจสอบพบหมูเถื่อนที่ท่าเรือเอกชนอีก 21 ตู้

โดยเฉพาะหมูเถื่อน 140 ตู้ บรรจุตู้ละประมาณ 30 ตัน ได้ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังมานาน 7-8 เดือน สมาคมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดไม่มีการแจ้งกรมปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบ ลงตราประทับว่า ผิดกฎหมายและทำลาย ขณะเดียวกัน ทางสมาคมต้องการให้กรมศุลกากรเปิดเผยรายชื่อผู้นำเข้า แต่ทางกรมศุลกากรไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้นำเข้าและชิปปิ้ง ทั้งที่ปกติหากสินค้าใดตกค้างอยู่ 30 วัน ตามขั้นตอนกรมศุลกากรสามารถติดต่อเจ้าของสินค้า

หากไม่มาเคลียร์สามารถนำสินค้ามาเปิดประมูลขายได้ แต่กลับปล่อยให้หมูเถื่อนวางตู้ในพื้นที่ โดยเรียกเก็บค่าเช่า 3,000 บาทต่อตู้ต่อเดือน และเก็บค่าไฟ เนื่องจากเป็นตู้ห้องเย็นอีก 1,000 บาทต่อตู้ต่อเดือน สินค้าค้างอยู่ 8 เดือนเท่ากับ 5,152,000 บาท โดยไม่ดำเนินการอย่างใด สะท้อนว่า เรื่องนี้น่าจะมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ทำให้ข้าราชการผู้น้อยไม่กล้าแตะต้อง

ขณะเดียวกัน ได้มีบริษัทผู้ให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใส่หมูเถื่อนดังกล่าวได้โทรศัพท์มาที่สมาคม ต้องการให้สมาคมช่วยบี้กรมศุลกากร เพราะต้องการเอาตู้กลับ เพราะค้างมา 7-8 เดือนแล้ว โดยบริษัทให้เช่าตู้บอกว่า มีเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ แนะนำให้นำตู้กลับออกไปนอกราชอาณาจักร (Reexport) โดยให้สำแดงเป็นสินค้าอย่างอื่น

ขอบคุณที่มา ประชาชาติธุรกิจ