ทำความรู้จัก ภาษีพลาสติก ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ พร้อมแนะโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ทำความรู้จัก ภาษีพลาสติก ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ พร้อมแนะโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญในการ ลดการใช้พลาสติก เพื่อลดปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้น ในต่างประเทศจึงเริ่มออกมาตรการ เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือพลาสติกที่ย่อยสลายยาก

ซึ่งเว็บไซต์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ข้อมูลว่า มาตรการหนึ่งในนั้นก็คือ “ภาษีพลาสติก” (Plastic Tax) หรือ “ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก” (Plastic Packaging Tax : PPT) เป็นมาตรการภาษีที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิก ที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก ทั้งนี้ ไม่รวมบรรจุภัณฑ์ พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล

มาตรการภาษีเป็นมาตรการภาครัฐประเภทหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุความตกลง ปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ที่กำหนดให้ทุกประเทศร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว 194 ประเทศ

ต่อมาในการประชุม COP26 ปี 2564 มีมติให้ประเทศภาคีปรับปรุงเป้าหมาย “การมีส่วนร่วม ที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contributions : NDCs) ให้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

ในทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือที่สามารถการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจาก การจัดเก็บภาษีพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทำให้ต้นทุนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย รวมถึงการใช้ บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเปลี่ยนไป ผู้ผลิตอาจเปลี่ยนไปใช้ วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ และผู้บริโภค อาจเลือกใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำแทน และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง ในขณะที่ ภาครัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

ภาษีพลาสติกในแต่ละประเทศ

1. สหภาพยุโรป ได้จัดทำ European Green Deal เป็นแผนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ทั้งนี้ ภาษีพลาสติก เป็นส่วนหนึ่งใน Green Deal และเริ่มจัดเก็บมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษี ให้กับสหภาพยุโรป ซึ่งคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม

2. นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถออกมาตรการภาษีพลาสติกของตนเองแตกต่างกันออกไปได้

3. อิตาลีและสเปนเก็บภาษีพลาสติกจากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า ในอัตรา 0.45 ยูโร ต่อกิโลกรัม ขณะที่ โปรตุเกสจะเริ่มเก็บภาษีพลาสติกในอัตรา 0.30 ยูโรต่อกิโลกรัม ในปี 2566

4. สหราชอาณาจักร บังคับใช้มาตรการภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax) ภายใต้ Finance Act 2021 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 โดยจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 ในอัตรา 200 ปอนด์ต่อตัน

5. สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ที่จะจัดเก็บภาษีพลาสติกที่ไม่มี ส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.2-0.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์

6. ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายภาษีพลาสติก Plastic Bags Tax Act เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และในปี 2569 ฟิลิปปินส์จะเริ่มจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 100 เปโซ ฟิลิปปินส์ต่อกิโลกรัม (ประมาณ 1.75 ดอลลาร์)

7. ไทย ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีจากพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นการเฉพาะ

ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก 140,772.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.07 ของมูลค่าการส่งออกรวม เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 13.46 สำหรับในปี 2565 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ พลาสติกเป็นมูลค่า 158,016.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12.25

โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนร้อยละ 19.23 ญี่ปุ่น (ร้อยละ 16.73) เวียดนาม (ร้อยละ 5.68) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.88) และจีน (ร้อยละ 4.77) ถึงแม้ว่าตลาดสำคัญของไทยจะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีพลาสติก แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่ตลาดเหล่านี้จะจัดเก็บภาษีพลาสติก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย อยู่ระหว่าง จัดทำร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ย่อมส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ

(1) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยการใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบจำพวก อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ พลาสติกชีวภาพได้

(2) การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสม ของพลาสติกรีไซเคิล

(3) การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพ โดยคำนึงถึงการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อ

(4) การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business) ที่คำนึงถึงสังคม ส่วนรวม สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางสังคมต่างๆ ตลอดจนเศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value added Economy) ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพของสินค้า และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Forbes. (2021). National Plastic Tax Proposal Follows the Enactment of New State Level

Plastics Fees. สืบค้นจาก https://www.forbes.com/sites/patrickgleason/2021/09/24/national-plastic-tax-proposalfollows-the-enactment-of-new-state-level-plastics-fees/?sh=139716343fe0

KPMG. (2021). Plastic Tax – Reduce, Reuse, Recycle. สืบค้นจาก https://home.kpmg/xx/en/home/ insights/2021/09/plastic-tax.html

Reuters. (2022). Philippines lower house approves bill taxing single-use plastics. สืบค้นจาก https://www.reuters.com/world/philippines-lower-house-approves-bill-taxing-singleuse-plastics-2022-11-14/

TODAY Bizview. (2564). สรุป COP26 ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงโอกาสเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/tomorrow-x-finnomena-cop26-01/

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. (2565). สหราชอาณาจักรเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก. สืบค้นจาก https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/ 772709/772709.pdf&title=772709&cate=413&d=0

สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ประจำกรุงเวียนนา. (2565). ภาษีพลาสติก คือ แหล่งรายได้ใหม่ของงบประมาณสหภาพยุโรป. สืบค้นจาก https://thaiindustrialoffice.wordpress.com /2022/05/26/ภาษีพลาสติก-คือ-แหล่งราย/