4 เดือนแห่งความหวัง ลดค่าไฟ 7 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาท

เมื่อวันที่ 22 เมษายน แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมาว่า คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) เห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด หรือ 20 เดือน งวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน งวดละ 22,000 ล้านบาท

ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พฤษภาคม-สิงหาคม 2566) ลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย

จากนี้ บอร์ด กกพ. จะพิจารณาวันที่ 24 เมษายน เพื่อมีมติเปิดรับฟังความเห็น 5-7 วัน และเสนอบอร์ด กกพ. พิจารณาเคาะราคาเพื่อประกาศใช้ต่อไป ตามขั้นตอนการพิจารณาของ กกพ. จะทันบิลค่าไฟรอบเดือนพฤษภาคมแน่นอน เพราะบิลค่าไฟจะเริ่มออกตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นต้นไป

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าแพงเป็นปัญหาของทุกคนในประเทศไม่ใช่เฉพาะของธุรกิจเพียงอย่างเดียว หอการค้าฯ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พยายามสื่อสารกับรัฐบาลถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลดค่าไฟฟ้าลงในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาซ้ำเติมกับทุกภาคส่วนกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่มโรงแรมที่พัก ธุรกิจค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า เป็นกลุ่มธุรกิจใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ กำลังเผชิญกับต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้า ประกอบกับค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มากก็ต้องยิ่งจ่ายแพงมากขึ้น

นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าฯ และ กกร. เคยมีหนังสือไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาแนวทางให้ค่าไฟฟ้าลดลง อย่างไรก็ตาม ทราบว่าปัจจุบันค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 (1 พฤษภาคม-31 สิงหาคม) คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย แม้ไม่ใช่ตัวเลขที่มากนักแต่เป็นแนวโน้มที่ดีต่อภาคเอกชนและประชาชน และแม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้ง

แต่ภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลกล้าตัดสินใจลดค่าไฟฟ้าทันที โดยไม่ได้มองว่าเป็นประเด็นหาเสียงช่วงเลือกตั้งหรือไม่ เพราะตอนนี้ถือเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันทั่วประเทศ และหากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อไปจนถึงรัฐบาลชุดใหม่ คงจะกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอย่างมหาศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้พิจารณาทบทวนค่าไฟงวดพฤษภาคม-สิงหาคม โดยเฉลี่ยไม่ควรเกิน 4.40 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระให้กับประชาชนที่มีค่าครองชีพสูง และภาคธุรกิจที่การส่งออกชะลอตัว