เห็นบิลค่าไฟแล้วหนาว! เปิดใช้เท่าเดิม แต่ทำไม ค่าไฟแพงขึ้น 

เห็นบิลค่าไฟแล้วหนาว! เปิดใช้เท่าเดิม แต่ทำไม ค่าไฟแพงขึ้น 

MEA การไฟฟ้านครหลวง ชี้แจงค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นช่วงเดือนเมษายน 2566 นี้ ไม่ได้เป็นการขึ้นค่าไฟฟ้า เหตุเกิดจากอากาศร้อนสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ใช้ไฟฟ้าเพิ่ม ยืนยันคิดคำนวณตาม คณะกรรมการ กกพ. พร้อมแนะวิธีประหยัดพลังงาน

วันที่ 19 เมษายน 2566 นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง MEA ในฐานะโฆษก MEA เปิดเผยว่า จากในช่วงเดือนเมษายน 2566 นี้ที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าสงสัยว่าค่าไฟสูงขึ้นเพราะการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟนั้น ทางการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง

โดย MEA ยืนยันว่ายังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราตามที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ทั้งนี้ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.mea.or.th/profile/109/111

สำหรับสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

เห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุด มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2566 ซึ่งค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด มักจะพบว่าอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งสิ้น โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์

ยกตัวอย่างเช่น ในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส

แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียส แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการทดสอบพบว่า อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสแอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม MEA มีข้อแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน

นอกจากนี้ ให้ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน

เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ