ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ธุรกิจ Food Delivery อิ่มตัวแล้วหรือยัง

ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ธุรกิจ Food Delivery อิ่มตัวแล้วหรือยัง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกรรมออนไลน์ที่เคยเร่งตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงการระบาดของโควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มชะลอหรือหดตัวลง ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจ Food Delivery หรือการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก สะท้อนผ่านข้อมูลเครื่องชี้ธุรกิจการส่งอาหารในช่วงไตรมาส 1 ปี 66 อ้างอิงจาก LINE MAN Wongnai ที่ให้ภาพชะลอตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในไตรมาสที่ 2 ปริมาณการใช้บริการ Food Delivery น่าจะหดตัวเล็กน้อยจากไตรมาสแรก แม้ตลาดจะได้รับปัจจัยหนุนจากวันหยุดยาวหลายช่วง การปิดภาคเรียน และการทำงานแบบ Hybrid Working ของบางองค์กร

โดยคาดว่าปริมาณการใช้บริการในช่วงครึ่งแรกปี 66 น่าจะหดตัวราว 8.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 65 ซึ่งเป็นการปรับสมดุลตามบริบทและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณการใช้บริการ Food Delivery อาจจะชะลอลง ผู้ประกอบการร้านอาหารน่าจะได้ยอดขายจากช่องทางหน้าร้านมากขึ้น ตามการกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 

ทว่าด้วยสภาวะการแข่งขันในตลาดที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากและหลากหลาย ประกอบกับต้นทุนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ แรงงานและค่าเช่า ที่ยังอยู่ในระดับสูงหรือปรับตัวสูงขึ้น ทำให้รายได้จากช่องทาง Food Delivery ยังคงมีความสำคัญในการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการ  

ขณะที่ในฝั่งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหาร น่าจะมีการรับรู้และเตรียมรับมือกับทิศทางการปรับตัวของตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว เห็นได้จากการปรับและกระจายพอร์ตธุรกิจไปเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการขยายขอบเขตการให้บริการไปยังกลุ่มธุรกิจประเภทอื่น อย่างการทำการตลาดและโฆษณา ธุรกิจท่องเที่ยว และการเงิน เป็นต้น