ชื่นชม ครูอ้อ ส่งต่ออาชีพให้ชุมชน ช่วยคนเปราะบาง หาเลี้ยงตัวเองได้

ชื่นชม ครูอ้อ ส่งต่ออาชีพให้ชุมชน ช่วยคนเปราะบาง หาเลี้ยงตัวเองได้ 

แม่ป่วย สามีความจำเสื่อม เคยมีเงินติดบ้านแค่ 20 บาท วันนั้นเหมือนทุกอย่างพังทลาย แต่เธอไม่เชื่อว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของเวรกรรม หากแต่เชื่อว่าคนเราสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้

เธอ คือ ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เคยเผชิญมรสุมชีวิตหนัก ที่อาจถอดใจได้ทุกเมื่อ

แต่เธอกลับฮึดสู้ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัว ด้วยงานหัตถกรรมที่ตัวเองรัก แถมยังส่งต่อโอกาสให้กลุ่มผู้เปราะบางมีงานมีรายได้มั่นคง

ครูอ้อ ที่หลายคนยกย่องให้เป็น หญิงแกร่งแห่งเมืองลี้

เธอ ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวนับจากนี้ ชื่อ อำพร วงษา ที่หลายๆ คนเต็มใจยกย่อง เรียกเธอว่า “ครูอ้อ” แม้เธอจะลาออกจากอาชีพแม่พิมพ์ มานานหลายปีแล้วก็ตาม

ครูอ้อ ย้อนความทรงจำเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหน้านี้ให้ฟัง แววตาหม่น

“เมื่อก่อน เป็นครูสอนอนุบาลค่ะ พอสามีล้ม ทำให้ไม่สามารถทำงานที่ตัวเองรักได้ ตอนนั้นเสียใจมากที่ต้องลาออกจากการเป็นครู แต่ต้องเลือกครอบครัว ใช้เวลาส่วนใหญ่มาดูแลครอบครัว แต่พอวันหนึ่งเราซึ่งเคยมีเงินเดือน แล้วจู่ๆ ขาดรายได้ประจำไป ทำให้อยู่ลำบาก ซึ่งจะไปทำการเกษตร ก็ไปไม่ได้ เพราะมีภาระที่ต้องดูแล เลยจำเป็นต้องหารายได้จากทางอื่น” ครูอ้อ เริ่มต้นอย่างนั้น

ก่อนเล่าต่อ

“แต่ไหนแต่ไร เป็นคนรักงานหัตถกรรม ชอบเย็บปักถักร้อย เคยหิ้วของไปขายตามสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ เดินไปตามร้านขายของที่ระลึก ร้านขายของฝาก เข้าไปถามเขาว่ารับสินค้าไหม เป็นพวกงานถัก และพวกพวงกุญแจตุ๊กตา ทำจากเศษผ้า เพราะตอนนั้นไม่มีต้นทุน เลยเอาเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บ”

งานปัก ถักทออาชีพให้ชุมชน

เมื่อถามถึงผลตอบรับเมื่อครั้งนั้น ครูอ้อ เล่าว่า บางร้านชอบเขาก็ซื้อ แต่เขาสั่งจำนวนเยอะ เราไม่สามารถทำได้ แต่ก็ฉุกคิด ถ้าปฏิเสธไป อาจไม่ได้ออร์เดอร์อีก ฉะนั้น ต้องรับไว้ก่อน แล้วค่อยกลับมาจัดการกับปัญหาของตัวเองว่าจะยังไง

ครูอ้อ เล่าประสบการณ์ เมื่อครั้งถูกปฏิเสธจากร้านค้า ที่จะไปฝากของขาย

“ท้อมากค่ะ มีอยู่ร้านหนึ่งที่เชียงใหม่ เข้าไปหาเขา 9 ครั้ง เขาบอกไม่ชอบงานถัก แต่ชอบงานฝีมือที่ทำจากผ้า ซึ่งเราไม่ถนัดเลย แต่ต้องเปลี่ยนตัวเอง พยายามเรียนรู้ หันไปทำในสิ่งที่ไม่ได้รัก มาทำของที่หากินได้และตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า เลยรับออร์เดอร์ตรงนั้นมา”

ครั้นสามารถผลิตชิ้นงานที่สามารถตอบโจทย์ รายได้จึงเข้ามามากขึ้น จึงพัฒนางานตัวเองขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเพิ่มพูนทักษะ จนมีออร์เดอร์เป็นงานปักล็อตใหญ่จากลูกค้าญี่ปุ่น ซึ่งได้ราคาดีมาก และนั่นนับเป็นจุดเปลี่ยน ครูอ้อกลายเป็นคนออกแบบให้เจ้าของสินค้าหลายเจ้า รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์หลากหลายในแบบของตัวเอง

ซึ่งเมื่อตัวเธอสามารถ “ลุกขึ้นได้” คนอื่นก็ต้องลุกได้เช่นกัน นั่นคือความตั้งใจของครูอ้อ

คุณทิว-สุริยา หล้าจอน ทำงานปักผ้าส่งให้ครูอ้อ ได้ราว 4 ปีเศษ ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาทำงานเป็นช่างก่อสร้างที่ต่างประเทศ แต่ได้รับอุบัติเหตุจนกลายเป็นคนพิการ ช่วงแรกๆ เคยทำงานดอกไม้ประดิษฐ์ แต่ไม่ค่อยมีออร์เดอร์ เลยเปลี่ยนมาทำงานปัก ซึ่งในการสอน ครูอ้อ จะบอกให้ปักได้ตามอารมณ์ อยากทำอะไรก็ทำ ฉะนั้น งานฝีมือแต่ละชิ้น จะมาจากภายในของแต่ละคน

“งานหัตถกรรมของเรา เหมาะกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่อาจเรียกรวมว่ากลุ่มผู้เปราะบาง จึงเข้าไปสอนพวกเขาให้มีทักษะ จากนั้นมีโอกาสร่วมกับโครงการพลังชุมชน สนับสนุนโดยเอสซีจี ทำให้ได้เรียนรู้ศาสตร์อื่น อย่าง การบริหารคน การสร้างงาน การสร้างเครือข่าย จนทุกวันนี้มีศูนย์ฝึกอาชีพ อยู่ในความดูแล 3 ศูนย์ สร้างอาชีพให้กลุ่มผู้เปราะบางกว่า 100 คน รายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท/ปี” ครูอ้อ เล่าภูมิใจ

ผลตอบแทนต่อปี สำหรับตัวเองและชุมชน ถือว่าน่าพอใจไหม ครูอ้อ บอกจริงจัง

“ตัวเลขรายได้อาจไม่มากมาย แต่ทำอยู่ตรงนี้แล้วมีความสุข ไม่ต้องไปวุ่นวายกับโลกภายนอก สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยสิ่งที่เรามี อยู่กับงานที่รัก รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า”

คุณอำพร หล้าจอน ที่คนในชุมชนเรียกเธอว่า แม่น้องแจ็ค อาชีพดั้งเดิมคือ ทำสวนลำไย แต่เมื่อหลายปีก่อน ลูกชายประสบอุบัติเหตุรถชน จนกลายเป็นผู้ป่วยพิการติดเตียง ผู้เป็นแม่ จึงต้องทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจ ทั้งหมด มาดูแลลูกชาย ทำให้ขาดรายได้ ครูอ้อจึงเข้ามาช่วยถ่ายทอดวิชาปักผ้าให้ จนสามารถขึ้นชิ้นงานได้บ้างแล้ว

เมื่อถามถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ ครูอ้อ บอกทิ้งท้าย

“อยากให้ชุมชนทั่วประเทศไทย ได้รู้จักคุณค่าและหันมาใส่ใจประเพณีและวัฒนธรรมของตนเอง ส่งเสริมกิจกรรมในชุมชนให้เข้มแข็งจากภายใน แล้วดึงให้ชุมชนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

ศูนย์เรียนรู้ ผ้าย้อมดินถิ่นครูบา วัดพระพุทธบาทผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน คือ 1 ใน 3 ศูนย์ ที่ครูอ้อ ดูแลรับผิดชอบอยู่ สนใจร่วมกิจกรรมหรือเลือกชมสินค้า ติดต่อได้ที่ 082-388-1337