ขายของช่วง สงกรานต์ ต้องรู้! ขายแพง-ไม่ติดป้ายราคา ระวังโทษปรับ

เล็งขายของช่วง สงกรานต์ ต้องรู้! ขายแพง-ไม่ติดป้ายราคา ระวังโทษปรับ-ดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน และเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว หรือทำบุญด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และใช้บริการขนส่งสาธารณะ

คาดการณ์ว่าในช่วง 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 จะมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 13.60 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 โดยการเดินทางในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ การเดินทางระหว่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นเครื่องบิน รถไฟ และรถโดยสารสาธารณะ สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน

Revellers use water guns to spray at one another as they celebrate the Buddhist New Year, locally known as Songkran, in Bangkok on April 14, 2019. (Photo by Jewel SAMAD / AFP)

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า กรมการค้าภายในจะจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าและบริการ สินค้าอุปโภค บริโภค ของที่ระลึก ของฝาก อาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงสถานีบริการน้ำมัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อป้องกันปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า ขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาศัยในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

สำหรับจุดสำคัญที่จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบ เช่น สถานีบริการน้ำมัน สถานีขนส่งต่างๆ เช่น สถานีหมอชิต สถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่งเอกมัย สถานีรถไฟ สถานีขนส่งบริษัทเอกชนด้วย ซึ่งเป็นจุดที่มีประชาชนใช้บริการมากที่สุด ทั้งนี้ ปกติกรมฯ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จะให้ความสำคัญมากขึ้น

หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิด จำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร หรือจำหน่ายในราคาไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้า และปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน

ส่วนกรณีการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน พบว่า 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม 2566) มีจำนวน 1,027 เรื่อง เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดำเนินคดีไปแล้ว 132 เรื่อง ส่วนใหญ่ที่มีการร้องเรียนผ่าน 1569 เป็นเรื่องของการไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า รองลงมาขายของแพง โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

และหากดูเฉพาะการร้องเรียนในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีจำนวน 344 เรื่อง และหากเทียบเดือนมีนาคม 2565 มี 332 เรื่อง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเรื่องของการไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า