คนไทย ใช้ Digital Payment จ่าย ค้าปลีก-ทางด่วน-ร้านอาหาร เยอะสุด

ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ! คนไทย ใช้ Digital Payment เพิ่ม 2 เท่าใน 5 ปี ค้าปลีก-ทางด่วน-ร้านอาหาร ทำธุรกรรมเยอะสุด

วันที่ 29 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าว ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงาน “The Way We Pay 2022” ซึ่งชี้ว่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินไปอย่างมาก การใช้เงินสดเริ่มถูกแทนที่ด้วย Digital Payment ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งสัญญาณที่ดีว่าประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าใกล้กับคำว่า “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยหลังจากช่วงวิกฤตของสถานการณ์ COVID-19 คนไทยคุ้นชินกับการชำระงินดิจิทัล ทำให้การใช้งานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณ 425 ครั้งต่อคนต่อปี ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 312 ครั้งต่อคนต่อปี และ 202 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2563

คนไทยแห่ใช้ Internet/Mobile Banking พุ่ง

ทั้งนี้ พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย จะนิยมชำระและโอนเงินผ่าน Internet/Mobile Banking มากขึ้น มีสัดส่วนปริมาณและมูลค่าสูงกว่า 70% และเกือบ 90% ตามลำดับ

ขณะที่ใช้ช่องทางดั้งเดิมลดลงต่อเนื่อง โดย Internet & Mobile Banking มีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี จาก 69.8 ล้านบัญชีในปี 2561 เป็น 138.3 ล้านบัญชี ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2565

ในปี 2565 จำนวนการใช้ Internet & Mobile Banking สูงถึง 2.27 หมื่นล้านรายการ และมูลค่าสูงถึง 101.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ Mobile Banking ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การใช้ Internet Banking ลดลง ประชาชนหันมาใช้การบริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันมือถือมากขึ้น เพราะสะดวก ง่าย คุ้นชิน สามารถใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตอบโจทย์ User Experience อย่างแท้จริง

พร้อมเพย์ ถูกใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว

โดย “พร้อมเพย์” เป็นบริการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูง ล่าสุด ณ เดือน ธ.ค. 2565 มีจำนวนลงทะเบียนสะสมถึง 74.3 ล้านหมายเลข การโอนเงินเฉลี่ยต่อวันในปี 2565 ปริมาณสูงถึง 40.6 ล้านรายการ มูลค่า 1.184 แสนล้านบาท

เป็นที่น่าจับตาว่าพร้อมเพย์ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น จากที่มูลค่าเฉลี่ยต่อรายการเดิมต้นปี 2565 อยู่ที่เกือบ 700 บาท มาเหลือประมาณ 600 บาท ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งมีแนวโน้มต่ำลง

ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็หันมาใช้พร้อมเพย์กันมากขึ้น และมีมูลค่าเฉลี่ยต่อรายการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 3.1 แสนบาท มาเป็น 3.4 แสนบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน รวมทั้งการใช้งานพร้อมเพย์ต่อวันยังคงสูงขึ้นทำลายสถิติใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยการใช้สูงสุด ล่าสุดอยู่ที่ 58.1 ล้านรายการต่อวัน ณ ต้นเดือน ธ.ค. 2565

รูดบัตรเครื่อง EDC ลดลง หันใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น

ด้านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิต และบัตรเดบิต) เป็นอีกทางเลือกในการใช้ Digital Payment ที่ยังคงได้รับความนิยม การใช้บัตรชำระเงินทั้งช่องทาง Online และ Offline ที่ร้านค้า (ผ่านเครื่อง EDC) แต่ในช่วงที่ผ่านมา ช่องทาง Online ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สะท้อนถึงวิถีของคนไทย ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล นิยมการซื้อของผ่านช่องทาง Online โดยเฉพาะการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ในหมวดธุรกิจร้านอาหาร จากที่มีธุรกรรมเพียง 0.3 ล้านรายการในปี 2561 มาเป็น 43.7 ล้านรายการในปี 2565 จากความนิยมใช้บริการ Food Delivery ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะที่หมวดธุรกิจค้าปลีกยังคงครองอันดับ 1 ตลอดทั้ง 5 ปี

กระแสนิยม e-Money มีผู้ให้บริการหลากหลาย

ในขณะที่ e-Money หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้น 1.4 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2565 มีจำนวนบัญชีสูงถึง 124 ล้านบัญชี รวมทั้งปริมาณและมูลค่าธุรกรรมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2565 มีการใช้งานถึง 3,352.3 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 6.272 แสนล้านบาท เมื่อแยกตามวัตถุประสงค์การชำระเงิน พบว่า การใช้ e-Money เพื่อการโอนงินมีการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยมีปริมาณพิ่มสูงขึ้นถึง 15 เท่า และมูลค่าเพิ่มถึง 9 เท่า ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ มีสัดส่วนปริมาณธุรกรรมอยู่ที่ราว 45% และมูลค่าการใช้งานที่ 39% ตามลำดับ

พฤติกรรมถอนเงินสดมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

แม้ Digital Payment เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่มีประชาชนยังคงมีการใช้เงินสด อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 พฤติกรรมการถอนเงินสดมีแนวโน้มลดลงจากปี 2561 ถึง 30.9% นอกจากนั้น ขณะที่การถอนงินแบบไม่ใช้บัตร (ผ่าน Mobile Banking Application) เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีสัดส่วนเป็น 32% ของช่องทางทั้งหมด สะท้อนให้เห็นความนิยมในการใช้บริการผ่าน Mobile Baking ที่สะดวกนั่นเอง