How To สังเกตอาการ ‘ฮีตสโตรก’ ภัยเงียบซัมเมอร์ ปฐมพยาบาลไว ลดเสี่ยงเสียชีวิต

How To สังเกตอาการ ‘ฮีตสโตรก’ ภัยเงียบซัมเมอร์ ปฐมพยาบาลไว ลดเสี่ยงเสียชีวิต

หลายวันมานี้อากาศเมืองไทย ร้อนเหมือนต้อนรับซัมเมอร์ เพราะอุณหภูมิทะลุ 40 องศา ส่งผลให้หลายๆ คนมีปัญหาสุขภาพตามมา อย่าง โรคฮีตสโตรก หรือ โรคลมร้อน หรืออาจเรียกได้อีกว่า โรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายสัมผัสกับความร้อนแล้วไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโรคที่รุนแรงที่สุดของโรคที่เกิดจากความร้อนเลยทีเดียว

เฟซบุ๊ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนประชาชน 6 กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคฮีตสโตรกได้ง่าย ได้แก่ เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เป็นเวลานาน และ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดสุรา ออกกำลังกายกลางแจ้ง เป็นต้น

ซึ่ง อาการ ของโรคฮีตสโตรก สามารถสังเกตได้ 4 อย่าง คือ 

1. สับสน และ มึนงง

2. เหงื่อไม่ออก

3. ตัวร้อนจัด

4. ผิวหนังแดงและแห้ง

หากพบผู้ป่วยเป็นโรคลมร้อน สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการพาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น จัดให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว และ โทร. 1669 นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ด้วยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างรถให้อากาศถ่ายเท หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลในทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้