พลังชุมชน พา ลืมตาอ้าปาก จากถั่วปี๊บ หันทำ เมล็ดพันธุ์ รับปีหลายสิบล้าน

พลังชุมชน พา ลืมตาอ้าปาก จากถั่วปี๊บ หันทำ เมล็ดพันธุ์ รับปีหลายสิบล้าน

ห่างหายไปหลายปี เพราะมีเหตุจำเป็นไม่สามารถเดินทางลงพื้นที่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง เอสซีจี นำโดย คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี จึงพาคณะสื่อมวลชนสัญจรไปเยี่ยมชม โครงการ พลังชุมชน และ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปางและลำพูน

ล้อมวงพูดคุย “จากฝายชะลอน้ำสู่อาชีพยั่งยืน”

พื้นที่แรกที่คณะไปถึงคือ บ้านสาแพะใต้ ม.3 ตำบลสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง พวกเราได้ร่วมพูดคุยกับตัวแทนชุมชน ให้หัวข้อ “จากฝายชะลอน้ำสู่อาชีพยั่งยืน” โดยทางผู้บริหารเอสซีจี ย้อนที่มาที่ไป ให้ฟังว่า โรงงานปูนลำปาง ตั้งขึ้นในปี 2537 เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการทำเหมือง เรียกว่า เซมิ โอเพ่น คัต คือ การตักหินปูนเพื่อจะไปทำซีเมนต์ จะตัดจากยอดเขา

เปรียบเหมือนควักเนื้อลูกแตงโม แล้วเหลือเปลือกหรือสันเขาไว้ เป็นการช่วยป้องกันฝุ่น ป้องกันเสียง ไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน จึงพูดได้ว่าเป็นโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี

และขณะได้รับสัมปทานเหมือง ก็ต้องดูแลป่าไม้ด้วย แต่สิ่งที่เจอคือ ความแห้งแล้ง พบปัญหาลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เกิดไฟไหม้ป่าเกือบทุกวัน

“สิ่งที่หนักมากสำหรับโรงงานปูนลำปางตอนนั้นคือ ต้องมีอาสาป้องกันไฟป่า ไปดับไฟป่า ซึ่งเหนื่อยมาก และลำพังเราทำกันเองไม่ได้ ต้องร่วมทำกับชุมชน จึงพยายามหาวิธีที่ไม่ต้องวิ่งไปดับไฟ ปรากฏว่าหาอยู่หลากหลายวิธี กระทั่งพบวิธีที่ดีมาก คือ การทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นการทำตามโครงการพระราชดำริ ที่ไปศึกษาต้นแบบจากห้วยฮ่องไคร้” ผู้บริหารเอสซีจี ย้อนจุดเริ่มของการทำฝายในชุมชน

เริ่มจากนับหนึ่ง ก่อนขยายผลไปยังชุมชนรอบๆ จนถึงตอนนี้ขยายไปทุกภาคของประเทศไทย ล่าสุด นับได้ประมาณ 120,000 ฝาย ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา พูดได้ว่าชัดเจน น่าชื่นใจ

“ทำไประยะหนึ่งได้ยินเสียงจากชุมชนว่า ฝายทำให้เกิดน้ำในป่า ต้นไม้งอกงามมากขึ้น พื้นที่ที่เคยแล้งเป็นสีน้ำตาล ก็เขียวขึ้น บ่อน้ำที่เคยแล้งก็มีน้ำ แต่น้ำไม่มาที่เทือกสวนไร่นา จะทำยังไงดี ทางโรงงาน ชวนชุมชนไปศึกษาโครงการในพระราชดำริ พบการทำระบบทอยน้ำ ที่เรียกว่า บ่อพวง มีบ่อแม่ บ่อลูก บ่อหลาน ลดหลั่นกันลงไป เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเก็บกักน้ำใช้เพื่อการเกษตร” ผู้บริหารเอสซีจี เล่าอย่างนั้น

ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ เป็นผู้อำนวยการโครงการ พลังชุมชน

ก่อนบอกต่อ เมื่อมีบ่อพวง ชุมชนเริ่มทำเกษตรได้ดี เริ่มมีผลผลิต เอสซีจีจึงคิดต่อถึงแนวทางลดเหลื่อมล้ำด้านสังคม ในเรื่องของอาชีพ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบโรงงานอย่างไรได้บ้าง เลยเกิดเป็นโครงการ พลังชุมชน ที่มี ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ เป็นผู้อำนวยการโครงการ

“แนวคิดของเอสซีจีคือ เน้นการเติบโตด้วยนวัตกรรม เป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาของลูกค้า เมื่อลูกค้ามีความต้องการ นวัตกรรมนั้นก็จะกลายเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มที่ขายได้แพงกว่า ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้ ทางโครงการพลังชุมชน ได้นำไปถ่ายทอดให้ชุมชนเข้าใจได้ง่ายๆ สามารถนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำแพ็กเกจจิ้ง ทำแบรนด์ ก่อนออกสู่ตลาด” ผู้บริหารเอสซีจี สรุปให้ฟัง

ไม่มีอะไรให้รอความหวัง  โอกาสมา ก็ต้องทำ

รับทราบเรื่องราวความเป็นมาของ “ฝายชะลอน้ำ” ซึ่งเปรียบเหมือน “ต้นทาง” ของการสร้างอาชีพกันแล้ว

แต่กว่าจะ “ลืมตา อ้าปาก” กันได้ ก็ใช่จะเป็นเรื่องง่าย

“อาชีพดั้งเดิมคือ ชาวบ้านปลูกถั่วลิสง ปีหนึ่งทำได้ 2 รอบ ต่อ 1 รอบได้เงินหลักพัน ขายถั่วได้ 25 บาทต่อ 1 ปี๊บพูนๆ นั่นคือเหตุผลที่ผมต้องไปหางานทำในกรุเทพฯ” คุณคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านสาแพะใต้ เริ่มต้นเล่าเสียงขรึม

ก่อนย้อนอดีตถิ่นเกิดให้ฟัง

“หมู่บ้านนี้ ถึงหน้าฝนก็น้ำป่าไหลหลาก น้ำไหลลงแม่น้ำวังหมด เราโชคดี ที่เอสซีจี มาชวนทำฝาย มีเวทีให้ดู ให้พูด ให้คุย แล้วมาต่อยอด ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เมื่อโอกาสมาถึงก็ต้องทำ เพราะไม่มีอะไรให้รอความหวังอีกแล้ว มีแต่การตัดไม้ทำลายป่า หน้าแล้งก็เผาทำลายหลักฐาน”

คุณคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านสาแพะใต้

ผู้ใหญ่คง เล่าต่อว่า ฝายเอสซีจี เริ่มทำในปี 2546 สานต่อจริงจังปี 2550 ตัวเขามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในปี 2555 ร่วมทำฝายกับเอสซีจี ในปี 2556 พอปี 2559 เริ่มเห็นผล หมู่บ้านของเขารอดจากความแห้งแล้ง

“ปี 2560 แล้งมาก ต้นไม้ยืนตาย แต่หมู่บ้านเรามีน้ำประปาใช้ จากน้ำใต้ดินที่ได้จากการทำฝาย สามารถเปิดประปาที่เป็นน้ำใต้ดินใช้ได้ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาทำฝายไป 2,000 กว่าลูก ใช้คน 2,000 กว่าคน เป็นแรงงานฟรี ห่อข้าวไปกินกันเอง หลายคนเสียสละที่ดินของตัวเองให้เป็นที่สาธารณะของชุมชน แต่ก็มีแรงต้านเยอะ จึงใช้หลักของการขายประกันที่เคยทำมาคือ ขายกับพี่กับน้อง ก่อน” ผู้ใหญ่คง บอกยิ้มๆ

ก่อนเล่าว่า ขณะที่หลายบ้านปลูกถั่วลิสง มีชาวบ้านอีกลุ่มหนึ่งประมาณ 4-5 ราย พยายามดิ้นรน ทำเกษตรประณีต เรื่องเมล็ดพันธุ์ (การปลูกพืชเพื่อขายเมล็ด ไม่ได้ขายผล) ขายส่งให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ แต่น้ำขาดแคลน จึงต้องพยายามเสาะหาแหล่งน้ำ ด้วยการใช้ท่อพีวีซีประมาณ 100 เส้น กับเครื่องสูบน้ำ 2 ตัว แม้จะลำบากกันมาก แต่พวกเขาเห็นเป้าหมาย เหมือนเห็นเปลวไฟปลายอุโมงค์

พากันไปชม แปลงมะระ ทำเมล็ดพันธุ์

“หลังจากมีน้ำพอใช้สำหรับการทำเกษตร ทำให้เกษตรประณีต ของหมู่บ้านเรา เติบโตขึ้นตามลำดับ ล่าสุด มี 80-90 ครอบครัว หันมาทำเมล็ดพันธุ์ พวก มะระ บวบ ฟักทอง แตงโม ปีหนึ่งทำได้ 6 รอบ ล่าสุดปีที่ผ่านมา   มีรายได้เข้าบัญชีชุมชน 24 ล้านบาท” ผู้ใหญ่คง เผยตัวเลข เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย

ทำเกษตรประณีต ปลูกเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ขาย รายได้ช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้

ผู้นำชุมชนท่านเดิม บอกอีกว่า ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชน มีรายได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ หนึ่ง มีเงินสดรายวันจากการปลูกพืชผักสวนครัว ขายให้พ่อค้าแม่ค้า สอง มีเงินเดือน คือ การขายเมล็ดพันธุ์ และ สาม มีโบนัส ปีละ 3 ครั้ง จากการขายมะม่วงสายพันธุ์โชคอนันต์ ที่มีการต่อยอดกับเครือข่ายพลังชุมชนจากจังหวัดสุโขทัย

ฝายเปลี่ยนระบบนิเวศ น้ำมาผลผลิตมี ชุมชนสร้างรายได้รายวันจากพืชผักสวนครัว

“สิ่งที่หายไปจากชุมชนของเราคือ การพนัน ไพ่ ไฮโล มวยตู้ ถามว่าหายไปได้ยังไง คือมันไม่มีเวลาว่าง แต่ละวันหมดไปกับการดูแลพืชผล ที่เห็นยืนกันหลายคนตรงนี้ไม่มีหนี้ ธ.ก.ส. สักบาทแล้ว นะครับ” ผู้ใหญ่คง บอกเสียงดังฟังชัด สีหน้าแววตา เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ