ของเล่น เครื่องสำอาง ร้านอาหารไทย มีแววสดใส ในตลาดคาซัคสถาน

ของเล่น เครื่องสำอาง ร้านอาหารไทย มีแววสดใส ในตลาดคาซัคสถาน

ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-คาซัคสถาน มีมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 98.42 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 61.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 74.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาซัคสถาน เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และยังเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง (คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน)

ในขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่าง ไทย-ภูมิภาคเอเชียกลาง มีมูลค่า 207.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 41.67 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 99.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 107.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับ สินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายคาซัคสถาน ได้แก่ อาหาร (อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร) และอุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างประชากร ของคาซัคสถาน จัดอยู่ในกลุ่มพีระมิดแบบขยายตัว มีประชากรวัยเด็กจำนวนมากกว่าวัยทำงาน

ดังนั้น สินค้าอีกประเภทที่มีความต้องการสูงและเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก และเด็กเล็ก และของเล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น ในส่วนของ ธุรกิจบริการ เป็นที่น่าสังเกตว่าอาหารไทยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ประกอบกับร้านอาหารไทยที่ให้บริการในคาซัคสถานยังมีไม่มากนัก (จำนวน 2 ร้าน ในเมืองอัลมาตี และได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT)

ดังนั้น ธุรกิจบริการร้านอาหารไทย ถือว่ามีอนาคตที่สดใส และเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ด้วยยังไม่มีคู่แข่งมากนัก

เกี่ยวกับภาพลักษณ์ประเทศและการยอมรับในสินค้าไทยสำหรับผู้บริโภคและนักธุรกิจคาซัคสถาน อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ชาวคาซัคสถาน เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยสินค้าที่รับความนิยม เช่น สินค้าอาหาร-ผลไม้ เครื่องสำอางและสมุนไพร เป็นต้น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุอีกว่า ในปี 2566 มีแผนผลักดันการส่งออกไปยังตลาดศักยภาพใหม่ โดยเฉพาะคาซัคสถาน ที่สามารถเป็น hub กระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียกลาง ได้โดยจะได้เชิญผู้นำเข้าคาซัคสถาน เข้าร่วมกิจกรรม Online Business Matching (OBM) ในกลุ่มสินค้าเป้าหมายสำหรับตลาดคาซัคสถาน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาล วัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องสำอาง และไลฟ์สไตล์

รวมถึงการพิจารณาที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทย ในรูปแบบ In-Store Promotion ร่วมกับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในคาซัคสถาน เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ การรับรู้ และความต้องการบริโภคสินค้าไทยของผู้บริโภคท้องถิ่นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนความร่วมมือและการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคาซัคสถาน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถานและภูมิภาคเอเชียกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไทยไปยังคาซัคสถาน ยังคงมีความท้าทายด้านโลจิสติกส์

แต่ด้วย คาซัคสถาน เป็นประเทศที่ไม่มีเขตแดนติดต่อกับทะเล ทำให้การขนส่งสินค้าต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าทางบก ผ่านรัสเซียทางรางผ่านประเทศจีน หรือทางอากาศซึ่งรวดเร็ว แต่มีต้นทุนที่สูงกว่า การขนส่งทางอากาศจึงเหมาะกับสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย หรือมีอายุการเก็บรักษาที่สั้น