โอกาสของไทย กับ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ผปก. ชี้ นโยบายรัฐ ต้องชัดเจน

โอกาสของไทย กับ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ผปก. ชี้ นโยบายรัฐ ต้องชัดเจน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 15 ในประเด็น “โอกาสของประเทศไทยกับ EV Conversion”

ตามที่ประเทศไทย วางแผนรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของโลก โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายกำหนดให้ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค” และวางเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30%

รวมถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่กำหนดให้ไทยผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จำนวน 40,000 คัน ภายในปี ค.ศ. 2027

โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และ นายพลพจน์ วรรณภิญโญชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซียูช็อป 1 จำกัด มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สอวช.

ดร.ธนาคาร กล่าวว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มเห็นโอกาสในการดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Conversion กันมากขึ้น โดยมีการทำต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถบรรทุก รถยนต์นั่ง รถบัส รถกระบะ รถจักรยานยนต์ หรือรถสามล้อ รวมถึงมีการทำการวิจัยและพัฒนา มีการทดสอบ และสำรวจความต้องการของตลาด จนผลิตออกมาเป็นสินค้าที่ใช้จริงอยู่บ้างแล้ว

แต่ก็ยังมีความต้องการความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ซึ่งทุกฝ่ายกำลังหารือร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากในปัจจุบัน ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ การจะทำให้เกิดมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนยอมรับ จึงต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกันทั้งระบบ

“การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำคัญที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงได้ในทันที ส่วนกลุ่มที่สอง เน้นการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สำคัญขึ้นภายในประเทศเพื่อสร้างขีดความสามารถ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม สามารถพัฒนาควบคู่ไปได้พร้อมกัน เพื่อสร้าง Demand ความต้องการของชิ้นส่วนภายในประเทศ”

“ให้มีปริมาณที่มากเพียงพอและคุ้มค่าในการลงทุนและพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ตั้งเป้าผลักดันเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และในไทย มีรถเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าใหม่มาทดแทนได้ทั้งหมด การสนับสนุนการดัดแปลงรถเก่าที่มีอยู่ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ปัญหาฝุ่นควัน และมลภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้” ดร.ธนาคาร กล่าว

ด้าน ดร.มนูญ กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ส่วนใหญ่ เกิดจากรถเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งปัจจุบันยานยนต์รูปแบบเดิมนั้นกำลังถูกแทนที่อย่างรวดเร็วด้วยยานยนต์ไฟฟ้า แต่การจะหารถใหม่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ทั้งหมดอาจไม่ทันเวลา จึงเป็นที่มาของการนำรถยนต์เดิมมาดัดแปลงให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า โดยจะได้ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต และการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ตั้งเป้าไว้

สำหรับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้นำปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานไปปรับแก้ไข สร้างให้เกิดมาตรฐานขึ้นในอุตสาหกรรม และสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้

“ปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องแบตเตอรี่ ภาษีแบตเตอรี่ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ รวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรืออู่รถ มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถในการดัดแปลงรถเดิมเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ต้องสร้างให้เกิดความต้องการใช้งาน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนผ่านได้เร็วขึ้น” ดร.มนูญ กล่าว

และว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มีการกำหนดแนวทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไว้อย่างชัดเจน มั่นใจได้ว่าภาครัฐให้การสนับสนุนแน่นอน จึงอยากให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคม เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่สามารถส่งข้อเสนอโดยตรงไปที่ภาครัฐ และอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง พัฒนาตนเองเป็นค่ายรถยนต์ จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้าน นายพนัส กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการนำรถเก่ามาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยจากการทดสอบพบว่า รถที่ดัดแปลงแล้ว สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริงเมื่อเทียบจากการใช้น้ำมัน

ส่วนปัญหาอุปสรรคที่พบจากการทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มีทั้งด้านอุปสงค์ (Demand) หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ก็จะมีปัญหาในการทำ R&D เนื่องจากรถในตลาดมีหลายรุ่น หลายโมเดล การผลิตชุด KIT สำหรับรถยนต์เดิม อาจยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งหมด

และปัญหาในด้านอุปทาน (Supply) เรื่องแบตเตอรี่ และการจัดหาชิ้นส่วนประกอบที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์ที่โลกโกลาหล ทั้งสงคราม และการแบ่งฝ่ายของประเทศมหาอำนาจในโลก ทำให้เกิดการ ล็อกสเปกการสั่งซื้อ

หากเราผลิตได้เอง จะดีทั้งในแง่ของต้นทุน และคาร์บอนเครดิต เพราะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ ผู้ได้ประโยชน์คือ ผู้ผลิตรถ แต่ถ้าทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ผู้ได้ประโยชน์จะกระจายไปสู่รากหญ้าคือ อู่เล็กๆ และผู้ประกอบการชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย

และถ้าภาครัฐ ส่งเสริมให้ไทยผลิตเอง เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเติบโตไปได้แน่นอน ขณะเดียวกัน ยังต้องพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรให้รองรับความต้องการในอนาคตด้วย

ด้าน นายพลพจน์ กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เริ่มศึกษาเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงอย่างจริงจัง แต่ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่หลายส่วน ทั้งเรื่องของการนำเข้าอุปกรณ์ ราคาสินค้า และคอนโทรลเลอร์ต่างๆ ถูกจำกัดด้วยการใช้งาน จึงเริ่มผลิตคอนโทรลเลอร์ต่างๆ เอง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในขณะนี้คือ การดัดแปลงรถต่อคันยังมีราคาสูง

อีกทั้งการพึ่งรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงเพียงอย่างเดียว ในการช่วยลดคาร์บอนฯ ตามที่รัฐบาลต้องการ หรือตามพันธกิจโลก คงเกิดขึ้นได้ยากตราบใดที่รถยนต์สันดาปแบบเดิมยังวิ่งอยู่บนท้องถนน ฉะนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะยกระดับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของไทยให้เป็นอุตสาหกรรม โดยภาคเอกชนไทย มีความพร้อม ต้องการรวมกลุ่มในรูปของสมาคม

เพื่อรวบรวม Demand และ Supply มีคุณภาพและมาตรฐาน ลดต้นทุน และการสนับสนุนของรัฐบาลเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ประเทศไทยอาจพิจารณาแนวทางของต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในจำนวนเงินที่เท่ากันกับยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยการดัดแปลงรถเก่าเป็นไฟฟ้า ที่ทำไปได้ควบคู่กัน