ซีอีโอ UBE ขอ 3 ปี แปลงตัวเอง “เราไม่อยากเป็น…โรงแป้งธรรมดาแล้ว”

ซีอีโอ UBE ขอ 3 ปี แปลงตัวเอง “เราไม่อยากเป็น…โรงแป้งธรรมดาแล้ว”

เป็นผู้บริหารหญิงเก่ง-รุ่นใหม่ วัยเพียงสามสิบกว่า ทว่าได้รับมอบหมายงานสำคัญขององค์กร ทั้งในฐานะ CEO ของบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไบโอเอทานอล-แป้งมันสำปะหลัง และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง อีก 1 ตำแหน่ง

“ได้ต้นแบบเรื่องการทำงาน มาจากคุณพ่อ-คุณแม่ คือ ท่านทำงานกัน 24 ชั่วโมง เวลาไปไหนก็หนีบลูกไปด้วยตลอด ทำให้มีพื้นฐานในการทำธุรกิจมาถึงวันนี้” คุณนุ่น-สุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE เริ่มต้นบทสนทนากับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ อัธยาศัย ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง

คุณนุ่น-สุรียส โควสุรัตน์

ก่อนคุยให้ฟังต่อ กิจการของครอบครัว แต่เดิม มีโรงสี ปั๊มน้ำมัน รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งทั้งคุณพ่อ-คุณแม่ ของเธอ เป็นคนชอบคิดริเริ่ม มีไอเดียใหม่ๆ ตลอด กระทั่งช่วงที่รัฐบาล มีโครงการส่งเสริมพลังงานทางเลือก เอทานอล เริ่มเป็นที่พูดถึง ทางครอบครัวจึงเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง ก่อนทำระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อป้อนผลผลิตให้กับโรงงานผลิตแป้ง และโรงงานเอทานอล

“10 กว่าปีก่อน ในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ คนส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นหลัก ไม่ค่อยปลูกมันสำปะหลังกัน เราก็เข้าไปส่งเสริม เริ่มจากนับหนึ่ง จนปัจจุบันมี Contract Farming ราว 6 แสนไร่ ผลผลิตที่ส่งป้อนโรงงานทั้ง 2 ส่วน ประมาณ 30 ล้านตันต่อปี” คุณนุ่น เผยตัวเลขอย่างนั้น

ผลผลิตมันสำปะหลัง

เกี่ยวกับรายได้หลักของ UBE ณ ปัจจุบัน คุณนุ่น บอกว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ธุรกิจเอทานอล และ กลุ่มสินค้าแป้งมันสำปะหลัง รายได้รวมของทั้ง 2 สินค้าอยู่ราว 7 พันล้านบาทต่อปี โดยมีสัดส่วนรายได้เท่าๆ กัน คือ 50-50

คุณนุ่น บอกด้วยว่า เวลานี้ ธุรกิจเอทานอล ไปได้อยู่ เพราะโลกส่วนใหญ่ ยอมรับในการใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของอุตสาหกรรมการบิน และเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก UBE จึงอยากเน้นทำธุรกิจกลุ่มอาหาร โดยทำโรงงานมันสำปะหลังให้โตขึ้น ผลิตแป้งออร์แกนิกที่พรีเมียม เนื่องจากมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมจากแป้งให้ออกมาสู่ตลาดค้าปลีกด้วย

“ภายใน 3 ปีนับจากนี้ UBE ต้องแปลงตัวเองให้ได้ เราไม่อยากเป็นโรงแป้งธรรมดาแล้ว เพราะโรงแป้งธรรมดา มีการแข่งขันสูงและผันผวนมาก ทำแบบเดิมมันเหนื่อย เลยพยายามทำโรงงานให้มีนวัตกรรม มีความเป็นสากล อยากยกระดับให้สินค้ามีความ High Value มากขึ้น” CEO หญิงท่านนี้ บอกจริงจัง

โรงงาน

อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปี 2566 นั้น ท้าทายมาก ทั้งเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งกระทบมุมผู้ส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาซัพพลายหาย สืบเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงอย่างมาก จากเคยได้ผลผลิต 33 ล้านตัน มาปีนี้เหลือแค่ 24 ล้านตัน

“คนในวงการมันสำปะหลังที่อยู่ในวงการนานกว่า 40-50 ปี บอกว่า ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน แต่ถึงเศรษฐกิจเป็นยังไง เราไม่หยุดพัฒนา ยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ วิจัยปรับปรุงคุณสมบัติแป้งมันสำปะหลังให้ดีขึ้น ร่วมกับหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง” คุณนุ่น บอกอย่างนั้น

ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ทาสุโกะ

เมื่อถามถึงผลตอบรับ “ทาสุโกะ” แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก หลากหลายรูปแบบทั้งคาว-หวาน คุณนุ่น เผยว่า ปีนี้จะจัดแคมเปญมากขึ้น หันมารุกตลาดค้าปลีกในประเทศ เข้าไปวางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เจาะกลุ่มทุกเพศ ทุกวัย เป็นใครก็ได้ที่ชื่นชอบการทำกับข้าว ชื่นชอบความเป็นเชฟ

“ยอมรับว่าผลิตภัณฑ์แป้ง มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว แต่ของเรามีความแตกต่าง เช่น เป็นออร์แกนิก ไม่ใส่ผงชูรส การที่เราเป็นเจ้าแรกๆ จึงต้องพยายามให้ความรู้กับผู้บริโภค เพราะเจ้าตลาดเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ผู้บริโภคเคยชิน แต่ ทาสุโกะ ขอเป็นทางเลือกในเรื่องของสุขภาพที่พรีเมียมกว่า ซึ่งการจะเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือนนั้น คงต้องใช้เวลานิดหนึ่ง” คุณนุ่น บอกยิ้มๆ

ทำงานหลายหน้า คงเจออุปสรรคปัญหามาสารพัด เรื่องไหนหนักหนาสุด CEO หญิงท่านนี้ บอกว่า เรื่อง “คน” นั้น ยากที่สุด เพราะ Mindset ของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ก่อนหน้านี้ขยัน ปัจจุบันอาจไม่ใช่ บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนมีปัญหากับสังคมแวดล้อม ก็ต้องใช้ความคิดแก้ไขไปทีละขั้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่หนักหนาเกินไป เพราะเธอบอก “ชอบทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว”