ลาออก จากงานธนาคาร มาเป็น เกษตรกรหัวใจอินทรีย์ พึ่งพาตัวเอง

ลาออก จากงานธนาคาร มาเป็น เกษตรกรหัวใจอินทรีย์ พึ่งพาตัวเอง

เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า สิ่งที่คุณทำอยู่ทุกวันนี้คือความสุขที่สุดในชีวิตแล้วหรือยัง สุขที่ว่าคือ สุขเพียงตัวเรา หรือสุขที่เราได้แบ่งปัน เช่นเดียวกับ คุณสิริกร ลิ้มสุวรรณ คนรุ่นใหม่หัวใจรักการทำเกษตรอินทรีย์ที่เลือกเดินออกจากงานประจำ เงินเดือนสูง เพื่อกลับคืนสู่ท้องถิ่นและมุ่งทำเกษตรอินทรีย์ หวังตอบแทนคุณธรรมชาติ และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

คุณสิริกร ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ (รุ่นที่ 9) มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังว่า ในชีวิตเขาผูกพันกับธรรมชาติ ชุมชน และท้องถิ่น ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนกฎหมายเพื่อวันหนึ่งจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่น และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คือ สถาบันการศึกษาที่เขาตัดสินใจเดินเข้ามาศึกษาโดยที่เขาได้เห็นโครงการเพื่อสังคม การอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินตลอดมา

คุณสิริกร ลิ้มสุวรรณ

และภายหลังเข้ามาศึกษาเขาก็เข้าร่วมทุกกิจกรรมอาสา ค่ายพัฒนาชุมชนต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือการที่มีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมา

“หลังเรียนจบ คิดว่าจะทำงานหาประสบการณ์ก่อนสัก 2-3 ปี โดยผมมีโอกาสได้เข้าทำงานในฝ่ายการตลาด ทำเกี่ยวกับสินเชื่ออยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่งประมาณ 3 ปี ตอนนั้นเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งและกลับมาคิดทบทวนว่า อะไรคือความสุขในชีวิตเรา สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า จะนำความรู้ที่มีศักยภาพที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เอาออกมาสร้างความรู้ ทำเกษตรให้ยั่งยืน และให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้” คุณสิริกร บอก

และว่า ตอนลาออกจากงานธนาคารมาทำเกษตร เริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือน ตั้งใจว่าจะทำมูลไส้เดือนขายให้เกษตรกร อยากให้ชาวนาเปลี่ยนจากนาเคมี มาเป็นนาอินทรีย์ แต่ทำไปได้ปีหนึ่ง ก็รู้ว่าเปลี่ยนใครไม่ได้ อาจจะเพราะภาระต่างๆ ที่ชาวบ้านต้องแบกรับ เลยคิดว่าต้องกลับมาเปลี่ยนตัวเองก่อน เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานอยู่เป็นปี จนทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางและมีคนสนใจเข้ามาถามไถ่

เก็บผลผลิต

หลังจากนั้นก็เริ่มสร้างเครือข่ายขึ้นมา โดยมีทีมงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็วางแผนต่อว่าหลังจากนี้อีก 4-5 ปีจะวางแผนทำอะไรต่อ

โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสังคมเกษตรอินทรีย์ อยากให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มากกว่ารอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ทำไปแล้ว คือ โรงเรือนบ้านรักษ์ดิน โดยมาจากความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ดิน เลี้ยงดินให้ดี เมื่อดินดีอุดมสมบูรณ์ก็จะปลูกพืชได้ดี ทำให้มีกินและแบ่งขายได้ เป็นการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง

โรงปลูกผัก

คุณสิริกร บอกอีกว่า ได้ทำโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิกไว้กินเอง เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเก็บผักปลอดสารพิษไปทานได้โดยไม่คิดเงิน หรือจะบริจาคได้ตามศรัทธาเพื่อเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ได้ปลูกต่อไปเรื่อยๆ และยังทำบ่อมะนาว

รวมทั้งสร้างเครือข่ายจากการทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เช่น ผงพอกหน้าขาวหอมมะลิ แชมพู ครีมนวดผมข้าวหอมนิล น้ำอบเชยกลั่นต้านเบาหวาน ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นออร์แกนิกทั้งหมด และกรรมวิธีขั้นตอนการผลิตต่างๆ ล้วนเป็นมิตรกับธรรมชาติ และมีคุณภาพคงคุณค่าก่อนถึงมือผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์ บ้านรักษ์ดิน

สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์หรืออยากเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ สามารถแวะเวียนไปดูตัวอย่างได้ที่บ้านรักษ์ดิน จังหวัดกาญจนบุรี