อยากขายของ ขายอะไรดี ถ้ารู้ 4 ข้อ ต่อจากนี้ อาจได้คำตอบโดนๆ

อยากขายของ ขายอะไรดี ถ้ารู้ 4 ข้อ ต่อจากนี้ อาจได้คำตอบโดนๆ

“อยากขายของ ขายอะไรดีคะ อาจารย์ช่วยแนะหน่อย”

ถามง่าย ตอบยาก ครับ

เพราะต้องถามกลับไปว่า “คุณถนัดอะไรล่ะ เคยทำอะไรมา ชอบอะไร และอยากขายของให้ใคร”

ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องถามเรื่อง “ทำเล” อีกอย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว พวกขายออนไลน์กันหมด อยู่ที่ไหนก็ขายของได้

ผมลองนั่งดูแนวโน้มการทำการตลาดสินค้ายุคนี้ให้บูมจากหลายๆ แห่ง พอสรุปได้ว่า

หนึ่ง สินค้าของคุณต้องเจ๋ง แปลก ไม่เหมือนใคร คนรุ่นปัจจุบัน Gen Z ชอบลองของใหม่

สอง สินค้าของคุณต้องมีคุณภาพ คือ เอาแค่แปลกใหม่อย่างเดียวไม่พอ ถ้าของห่วยคนซื้อซื้อครั้งเดียว แต่ถ้าของมีคุณภาพคนซื้อจะซื้อซ้ำ

สาม มีที่มาที่ไปของสินค้า เขาเรียกว่ามี “สตอรี่” มีเรื่องเล่า คนถึงนิยมหวนไปหาของโบราณ เพราะดูมีเรื่องราวความเป็นมา มีความภาคภูมิใจของบรรพบุรุษ ยิ่งถ้าเราได้ใช้สินค้านั้น และยิ่งหายาก หรือเข้าถึงไม่ง่าย ยิ่งภูมิใจไปใหญ่ แต่ก็ต้องมาพร้อมกับข้อ 2 ด้วย

ผมเคยเจอมาแล้ว บะหมี่เจ้าใหม่ เขียนสตอรี่ไปถึงรุ่นหิ้วเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน ลักษณะของบะหมี่ การใส่ถ้วย จัดจาน หมูแดงดูน่ากิน ร้านน่านั่ง สวย คือ มีข้อ 1 และ 3 แต่พอเอาเข้าปาก ต้องบอกแบบคนยุคเบบี้บูมเมอร์ว่า “ไม่เป็นสับปะรด” คุณภาพไม่ได้ ไม่อร่อย

สี่ สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทรนด์นี้เห็นเขาว่ามากันตั้งหลายปีแล้ว บ้านเมืองเรารัฐบาลก็บอกอยากเป็นประเทศ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ภายในปีไหนก็ไม่รู้ คือการที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก รักคน ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เน้นการใช้ผลิตภัณฑ์แบบหมุนเวียน ถ้าเป็นร้านอาหารก็เรียกว่า “ร้านอาหารสีเขียว” คนกินก็ “บริโภคสีเขียว”

แต่พูดก็พูดเถอะครับ ผมสังเกตคนรอบตัวยังไม่ค่อยเห็นใครให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ ยังขอหลอดดูดน้ำ ใช้ถุงพลาสติกฟุ่มเฟือย กินทิ้งกินขว้าง ผมเลยไม่แน่ใจว่าการทำ “สินค้าสีเขียว” จะดึงดูดคนไทยได้จริงเหมือนในเมืองนอกไหม

อีกอย่างหนึ่งเรื่อง “สีเขียว” นี่ มันต้องทำด้วยใจ และเข้าใจ “สีเขียว” อย่างแท้จริง ผมเห็นข่าวประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ชวนคนปลูกต้นไม้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ดันใช้ถุงเพาะชำพลาสติกมาให้คนที่มาทำกิจกรรมขุดหลุมปลูก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าถุงพลาสติกกว่าจะย่อยสลายได้เป็นพันปี และถึงแม้จะเป็นถุงแบบย่อยสลายได้ ก็ต้องดูอีกว่าเป็นพลาสติกย่อยสลายแบบไหน กลายเป็นนาโนพลาสติกไหม มันจะปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติไปอีกกาลนาน

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566