สุ่มตรวจน้ำปลา 48 ตัวอย่าง ไร้สาร ‘โบทูลินัม’ สธ.ชงกรมการค้าตปท.แจงสหรัฐ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าน้ำปลาจากประเทศไทยเมื่อปี 2557 เนื่องจากไม่มีข้อมูลการตรวจสารพิษโบทูลินัมในน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าและสัดส่วนการตลาดของน้ำปลาไทยในสหรัฐเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอาหารไทยนั้น สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ทำการสำรวจการปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัมและเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลาที่หน่วยงานต่างๆ และเอกชนนำส่งตรวจวิเคราะห์และตัวอย่างน้ำปลาที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป รวม 48 ตัวอย่าง แยกเป็น น้ำปลาแท้ 28 ตัวอย่าง 21 เครื่องหมายการค้า จาก 18 แหล่งผลิตใน 12 จังหวัด และน้ำปลาผสม 20 ตัวอย่าง 18 เครื่องหมายการค้า จาก 14 แหล่งผลิต ใน 9 จังหวัด โดยตรวจหาสารพิษโบทูลินัม ชนิด A, B, E และ F และตรวจหาเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ปรากฎว่าไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัมในน้ำปลาทุกตัวอย่าง

“เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นแบคทีเรียที่พบได้ในดินและน้ำ ไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโตและสามารถสร้างสปอร์ที่ทนต่อความร้อน ทำให้สปอร์ยังคงหลงเหลืออยู่ หากในการผลิตอาหารแปรรูปมีกระบวนการผลิตไม่ผ่านความร้อนหรือให้ความร้อนไม่เหมาะสม และหากอาหารนั้นอยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อ เช่น ไม่มีออกซิเจน มีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่า 4.6 มีส่วนผสมของเกลือแกงไม่เกิน ร้อยละ 5-10 เก็บรักษาในอุณหภูมิปกติ และไม่เกิน 45-50 องศาเซลเซียส ตัวอย่าง อาหารกระป๋องชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำ หน่อไม้ปี๊บที่ไม่ได้ปรับกรด อาหารหมัก หมูยอที่วางจำหน่ายโดยไม่แช่เย็น เป็นต้น สปอร์จะเจริญเป็นตัวเชื้อเพิ่มจำนวน และสร้างสารพิษโบทูลินัมในอาหารนั้นๆ ได้” นพ.สุขุม กล่าวและว่า สารพิษชนิดนี้มีฤทธิ์ร้ายแรงหากร่างกายได้รับเพียง 0.5 ไมโครกรัม สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่บริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษนี้จะมีอาการมองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอัมพาต หายใจขัด และเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว

นพ.สุขุม กล่าวว่า ปัจจุบันพบสารพิษโบทูลินัม 8 ชนิด คือ A, B, C1, C2, D, E, F และ G ชนิดที่มักพบก่อโรคในคน ได้แก่ ชนิด A, B, E และ F ส่วนชนิด C, D และ E ก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ สัตว์ปีก และปลา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าน้ำปลาไทยปลอดสารพิษ และจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนให้น้ำปลาไทยสามารถรักษาและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐไว้ได้ ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ส่งมอบข้อมูลนี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป