กัญชา ปรุงอาหาร คนไทยทำมานาน นักวิจัย ยัน ใบปรุงน้ำซุป ไม่ทำให้เมา

กัญชา ปรุงอาหาร คนไทยทำมานาน นักวิจัย ยัน ใบปรุงน้ำซุป ไม่ทำให้เมา

จากกรณี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก จากบุคคลที่อ้างเป็นแพทย์ท่านหนึ่ง โดยอ้างอิงรูปตู้อัตโนมัติที่ขายกาแฟผสมกัญชาในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง โดยระบุว่า ขายแบบนี้ แล้วจะกันไม่ให้วัยรุ่นหรือเด็กกดซื้อได้อย่างไร ถึงมีแปะไว้ว่าไม่ขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี จะตรวจสอบอย่างไร นอกจากนี้ ตู้ยังแปะว่า อย. อนุญาตด้วย

เกี่ยวกับโพสต์ดังกล่าว ดร.พิพัฒน์ นนทนาภรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ผ่านการเรียนเคมีมาแล้ว น่าจะรู้ดีว่าสารกลุ่มแคนาบินอยด์ เช่น THC CBD ละลายน้ำได้น้อยมาก อาจเรียกว่าไม่ละลายเลยก็ได้ ประกอบกับใบกัญชา มีสารเหล่านี้น้อย ดังนั้น น้ำต้มใบกัญชา ซึ่งมาจากการต้มหรือชงใบกัญชาด้วยน้ำจึงแทบจะตรวจไม่พบสารกลุ่มนี้เลย

ซึ่งถ้าละลายน้ำได้ง่ายๆ เราก็คงใช้การต้มสกัดเอาตัวยาออกมาได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งภาคอุตสาหกรรม ในการไปหาเครื่องมือแพงๆ มาทำการสกัดสารกลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่าการที่นำใบกัญชามาชงน้ำ ไม่ได้ทำให้เมาจากการที่สารเมาไม่ละลายน้ำ

ในส่วนของการทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดว่า ในเครื่องดื่มต้องมีสาร THC น้อยกว่า 0.015 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และมีที่มาของการกำหนดมาตรฐานเหล่านี้ มาตรฐานของ อย.ไทย เป็นที่ยอมรับทั่วโลก หากมีผลิตภัณฑ์ใดผิดกฎหมาย ก็ร้องเรียนกันไป

ดร.พิพัฒน์ นนทนาภรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย

ส่วนการนำมาจำหน่ายก็ขึ้นกับว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม สังคมต้องการกฎหมายที่ควบคุมกัญชาทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการปลูก แปรรูป การขาย การคุ้มครองเด็กและเยาวชน การคุ้มครองผู้บริโภค บทลงโทษต่อผู้ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด การควบคุมกัญชาจำเป็นต้องควบคุมทั้งระบบและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

ดร.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สมาคมนักวิจัยฯ มีการเก็บข้อมูลการวิจัยในเชิงพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน พบว่า มีการใช้กัญชาใส่ในอาหารของคนไทย มีมาอย่างช้านาน และใช้อย่างชาญฉลาด ในสังคมไทย มีการใช้กัญชาปรุงอาหาร เช่น การใช้ใบใส่ในน้ำซุปเพื่อปรุงรส ไม่ได้ทำให้เมา เพราะสารเมาไม่ละลายน้ำ หรือละลายก็น้อยมาก สามารถกินใบสดเป็นผัก หรือใช้แทนใบกะเพราได้

ทางสมาคมฯ ยินดีเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้เรื่องนี้แก่ประชาชน เชื่อมั่นว่าประชาชนเรียนรู้ได้ เนื่องจากมีข้อมูลทางภูมิปัญญาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากกัญชา อย่างเหมาะสมด้วยความรู้ความเข้าใจไม่ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวอ้างสรรพคุณที่เกินจริง