สู้ น้ำมันแพง ภาครัฐ หนุน สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

สู้ น้ำมันแพง ภาครัฐ หนุน สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ในการประชุม คณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม นั้น

สอวช. ได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของประเทศไทย และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ของประเทศไทย

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง การดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าจึงช่วยประหยัดค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่สามารถแบกรับภาระซื้อรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงก็จะสามารถดัดแปลงรถเก่าได้ ในส่วนของความพร้อมของประเทศไทยหากจะต้องเปลี่ยนแบบฉับพลัน อาจยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด

เนื่องจากยังขาดความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี เครื่องมือ ตลอดจนอู่ที่จดทะเบียนที่สามารถผลิตและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าได้ยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้นในระยะแรก ควรเริ่มจากเปลี่ยนชิ้นส่วนรถไฟฟ้าบางชิ้น เพื่อที่อู่จะสามารถซ่อมเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ ยังต้องเร่งฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ทั้งนี้ ดร.เอนก ได้กล่าวสนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมกับให้คำแนะนำว่า ให้ขยายตลาดไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งมีความต้องการในการลดมลพิษในประเทศสูง ขณะเดียวกัน ตลาด CLMV ก็มีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของไทย โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม หากเราทำอุตสาหกรรมยานยนต์ดัดแปลงให้ดี จะมีโอกาสอีกมาก

ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังทำชุดดัดแปลงออกมาในราคาถูก ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย และกำลังประสานความร่วมมือกันในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการขยายผลต่อไป

สำหรับมาตรการในประเทศ ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ควรเร่งสนับสนุนให้ประชาชนดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็น       ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสามารถจดทะเบียนได้ ผู้ประกอบการเดิมสามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และมีการลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญภายในประเทศ

ส่งเสริมการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าในรถเก่า เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศและการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากในสถาบันการศึกษา ที่สามารถพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต พัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบคมนาคมแห่งอนาคต พัฒนาและให้บริการระบบขนส่งคน เป็นต้น