ปิดตำนานซีฟู้ดดังยอมรื้อพ้นหาดหัวหิน กรมเจ้าท่าลั่นแนวทางกม.ใหม่เพิ่มโทษหนักขึ้น

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 นายรุจน์ประทีป ธรรมรพีภัทร์ นายอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคาร 40 หลัง รุกหาดหัวหิน ความยาว 400 เมตร ริมถนนนเรศดำริห์ ตั้งแต่ศาลเจ้าทับทับทิมถึงสะพานปลา ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบุกรุกชายหาดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 กับผู้บุกรุก 9 รายโดยสั่งปรับรายละ 1 – 2 ล้านบาท นานกว่า 2 ปี ล่าสุดมีกำหนดรื้อถอนอาคารภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ หากผู้บุกรุกไม่รื้อทางราชการจะเข้าดำเนินการโดยผู้ครอบครองอาคารที่แพ้คดี จะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด ขณะที่ร้านแสงไทยซีฟู้ดร้านอาหารขนาดใหญ่ได้ให้ความร่วมมือรื้อโครงสร้างขนาดใหญ่ออกทั้งหมดแล้ว ส่วนร้านอาหารขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง ยังรื้อในลักษณะถ่วงเวลา เพื่อประกอบธุรกิจตามปกติ

“ขณะนี้แนวทางการรื้ออาคารทั้งหมด นอกเหนือจากคำสั่งศาลฎีกา มีทั้งร้านอาหาร ร้านค้า บ้านพัก และโรงแรมเถื่อนมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากฝ่ายปกครองใช้อำนาจใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าของอาคารทุกรายกับพนักงานสอบสวน สภ.หัวหิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หลังจากพบว่าอาคารทั้งหมดมีการยึดครองที่ดินสาธารณประโยชน์ นอกจากนั้นเทศบาลหัวหินได้แจ้งความผู้บุกรุก มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 แต่มีการยื่นอุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการควบคุมอาคารระดับจังหวัด ส่วนกรณีที่กรมเจ้าท่าแจ้งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2457 ต่อมาทราบว่าศาลสั่งยกฟ้องผู้บุกรุก 17 ราย เนื่องจากมีการฟ้องผิดตัว ” นายรุจน์ประทีป กล่าว

นายอำเภอหัวหิน กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้ปลัดอำเภอเข้าจับกุมผู้ประกอบการโรงแรมเถื่อนจำนวน 6 ราย ไม่มีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงแรม 2547 ขณะนี้ศาลสั่งปรับแล้ว 2 รายๆละกว่า 1 แสนบาท ส่วนอีก 4 ราย อยู่ระหว่างการออกหมายเรียกให้ผู้ประกอบการตัวจริงเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา นอกจากนั้นได้รับรายงานว่ามีอาคารที่บุกรุกชายหาดบางหลังมีการใช้เลขที่บ้านเดียวกัน กับอาคารฝั่งตรงข้ามด้านทิศตะวันตก ที่มีถนนนเรศดำริห์กั้นกลาง โดยเฉพาะร้านอาหารซีฟู้ดขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่าเจ้าของอาคารดังกล่าวมีการยื่นเอกสารขอใช้น้ำประปาจากเทศบาลหัวหินและไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อย่างไร

ขณะที่ ล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ประกาศแนวทางการใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2522 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 17 พ.ศ.2560 หลังประกาศในราชกิจนุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เป็นต้นไป เพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารลงไปในแม่น้ำ คลองและทะเล ชายหาดสาธาณประโยชน์ โดยระบุว่า สิ่งปลุกสร้างที่ไม่เคยได้รับอนุญาต หรือเคยได้รับอนุญาตแต่ไม่เป็นไปตามแบบก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ให้ดำเนินการดังนี้ 1. ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งต่อกรมเจ้าท่า หรือสำนักงานสาขาส่วนภูมิภาคภายวันที่ 22 มิถุนายน 2560 หากกรมเจ้าท่าไม่ออกใบอนุญาต 1 กรมเจ้าท่าจะออกคำสั่งให้รื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งปลุกสร้างรุกล้ำลำน้ำให้เสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน 2. กรมเจ้าหน้าที่หรือสำนักงานสาขา แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยมีโทษปรับคำนวณตามพื้นที่ตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 10,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก 3. หากผู้รับคำสั่งเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กรมเจ้าท่าจะดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารเป็นออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต้องดำเนินการขออนุญาตก่อนการดำเนินการ หากฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้เป็นต้นไปจะถูกดำเนินการ ดังนั้น 1 . กรมเจ้าท่าหรือสำนักงานสาขาจะมีหนังสือแจ้งให้ทำการรื้อถอน หรือแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน 2. แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อส่งฟ้องศาล โดยไม่โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับคำนวณเป็นตารางเมตรของพื้นที่ล่วงล้ำลำน้ำ ในอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นจะต้องถูกปรับเป็นรายวันไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนหรือแก้ไขจนกว่าตะมีการปฏิบัติตามคำสั่งแล้วเสร็จ และ 3. หากมีการรื้อถอนผู้ครอบครองจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย