นักวิจัย วอนผ่านร่างกฎหมายกัญชา เพื่อประชาชนมีสิทธิ์ดูแลสุขภาพตัวเอง

นักวิจัย วอนผ่านร่างกฎหมายกัญชา เพื่อประชาชนมีสิทธิ์ดูแลสุขภาพตัวเอง

ดร.พิพัฒน์ นนธนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณสภาฯ ที่จะนำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชงฯ เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 18 ม.ค.นี้ พร้อมยืนยันว่า การที่ทางสมาคมฯ และเครือข่ายกัญชาฯ ออกมาเรียกร้องให้ สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ นั้น เพราะต้องการให้ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองได้ และทุกคนต่างมีประสบการณ์การใช้กัญชาในมิติต่างๆ

จากการเห็นประโยชน์ของกัญชาจริงๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งใช้กัญชาเป็นทางร่วม ทางเลือก เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความทุกข์ทรมาน ทำให้โรคสงบ เป็นต้น โดยวันที่ 21 ม.ค.นี้ ภาคประชาชนจะจัดเวทีแชร์ประสบการณ์การใช้กัญชารักษามะเร็งของผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหัวข้อการวิจัยต่อไป

ดร.พิพัฒน์ ยังยกเหตุผลสำคัญ 5 ประการ ที่สภาฯ ต้องผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ได้แก่ ประการแรก ขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการกัญชากัญชงอย่างครบวงจร เนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชาฯ มีการออกแบบที่ครอบคลุมในการบริหารจัดการกัญชา-กัญชง ครบวงจร และรวมอำนาจในการกำกับดูแลและควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา-กัญชง เป็นหนึ่งเดียว เพราะในปัจจุบัน ได้มีการประกาศควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา-กัญชง จากกฎหมายต่างๆ และเป็นเพียงประกาศกระทรวง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกได้ง่าย

ประการที่สอง ความเสี่ยงของกลุ่มเปราะบางของกลุ่มเด็ก เยาวชน และหญิงตั้งครรภ์ ที่อาจจะเข้าถึงกัญชา-กัญชงได้อย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากการออกกฎกระทรวงในปัจจุบัน ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากกว่าการมี พ.ร.บ.กัญชาฯ ดังที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ที่มีเยาวชนใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง จากผู้ขายที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม

ดร.พิพัฒน์ นนธนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย

ประการที่สาม ความเสี่ยงของกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในการรักษาโรค ที่ได้รับยากัญชาที่ขาดมาตรฐานที่มีการปนเปื้อนหรือแม้แต่ THC สังเคราะห์ที่มีการลักลอบนำเข้ามา หลอกลวงผู้ป่วยให้ใช้ในการรักษาซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลและใช้เป็นจุดโจมตี โดยไม่พิจารณาว่าต้นทางของยากัญชาที่นำมารักษานั้น ขาดมาตรฐาน ทำให้เสียโอกาส เสียเงินทอง ของผู้ป่วย

ประการที่สี่ ความเสี่ยงของประชาชนที่ขาดประโยชน์จากการใช้กัญชา-กัญชง ในทางเศรษฐกิจ ที่จะสามารถสร้างงานในตลาดกัญชาอีกเป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้ากัญชา จะกลับไปเป็นยาเสพติดตามคำประกาศของบางพรรคการเมือง ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายหลายหมื่นล้าน และจะมีผู้กระทำผิดกฎหมายยาเสพติดทันทีอีกนับแสนคนในห่วงโซ่อุปทานของกัญชากัญชง อันเป็นความเสียหายของสังคมอย่างมหาศาล

ประการสุดท้าย ความเสียหายของประเทศชาติ ต่อการเติบโตของตลาดกัญชา-กัญชง ในระดับโลกที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการเติบโตของตลาดในปี 2028 หรือ พ.ศ. 2571 อยู่ที่ 197.74 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 6,920 ล้านล้านบาท และมีประเทศต่างๆ ทยอยเปิดกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีประเทศใดเลยที่เมื่อเปิดกัญชาให้ถูกกฎหมายแล้วจะกลับนำไปเป็นยาเสพติดอีก

อีกทั้งประเทศไทยได้ดำเนินการในการปลดล็อกเป็นประเทศแรกในเอเชีย และมีประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่จะทำตามประเทศไทย เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น การที่บางพรรคจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจึงเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และเป็นการละเลยดูถูกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รังสรรค์ตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชานับร้อยตำรับทั้งที่บรรพบุรุษไทยสร้างชาติให้อยู่รอดได้นับร้อยปีด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

“แต่ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร ทางเครือข่ายฯ จะนำหลักฐานเชิงประจักษ์ รูปธรรม การใช้จริง ในพื้นที่ต่างๆ มานำเสนอต่อสังคม เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมที่มีต่อกัญชาให้อยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติของกัญชาให้มากที่สุด และมาร่วมกันนำทรัพย์สินทางปัญญาของชาติด้านกัญชา มาพัฒนาเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป” นายกสมาคมนักวิจัยฯ กล่าว