นักท่องเที่ยวจีน กลับมา ความคิดที่ว่า หมูมาแล้ว ต้องรีบฟัน เลิกเถอะครับ

นักท่องเที่ยวจีน กลับมา ความคิดที่ว่า หมูมาแล้ว ต้องรีบฟัน เลิกเถอะครับ

แขกจีนมาแล้ว หลังจากอั้นมานาน มีคนค้าขายกับนักท่องเที่ยวถามว่า “แล้วต้องทำยังไง”

ข้อที่ 1 ค้าขายอย่างซื่อสัตย์ไม่หลอกลวง ผมเองไม่ค่อยอยากตำหนิ นินทาคนค้าขาย แต่คนไทยเราเองก็เคยโดนแม่ค้าพ่อค้าคนไทยเราหลอกกันเนืองๆ มีเรื่องให้ฟ้องร้อง สคบ. กันทุกวัน ผมเองยังเคยฟ้อง สคบ. เลย จนได้เงินคืนมา ความคิดที่ว่า “หมูมาแล้ว ต้องรีบฟัน” เลิกเถอะครับ ขายของตั้งราคาเวอร์ๆ เอาของยัดไส้ เปลี่ยนของ

เห็นล่าสุดมีคนร้องเรียนแม่ค้าตลาดดังชายทะเลว่าตอนซื้อปูเป็นปูสด พอกลับมาเอามานึ่ง ดันกลายเป็นปูตาย ผมเชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยเจอเรื่องอย่างนี้มาแล้ว อย่าว่าแต่หลอกแขกคนจีน เลิกหลอกแขกไทยและทุกชาติเถอะ หัวจะโกร๋นหมดแล้ว

ข้อที่ 2 อย่าคิดดูถูกแขกชาวจีนไม่ว่าด้วยเรื่องอะไร ทั้งเชื้อชาติ ภาษา กิริยา อย่าเรียกเขาทั้งต่อหน้าและลับหลังว่า “เจ๊ก” คนไทยกับคนจีนมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กันมายาวนาน จนมีเรื่องราวต่างๆ มากมายทั้งดีและไม่ดี ซึ่งเราควรจะลืมๆ ไปซะ ถ้าเราอยากต้อนรับคนจีน ก็ต้องให้เกียรติในความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา แม้ว่ากิริยามารยาทของคนจีนหลายอย่าง

ทั้งเรื่องการพูดเสียงดัง การกิน การแต่งตัว อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของใครหลายคน เราก็ต้องคิดว่าประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติเป็นสิ่งที่เขาสั่งสมมา ย่อมแตกต่างกัน ควรให้ความเคารพในตัวตนของเขาด้วยความจริงใจ

ข้อที่ 3 ด้านความปลอดภัย ซึ่งเคยเป็นเรื่องถึงกับชาวจีนโกรธเรากันนาน และเป็นเรื่องที่ป้องกันค่อนข้างยาก ในเมืองไทยเองมีทั้งผู้ร้ายผู้ดี มีคนหลายเชื้อชาติ ที่เราทำได้คือช่วยกันสอดส่อง เห็นใครไม่น่าไว้วางใจ บอกกล่าวทางการ ร้านเราติดกล้องวงจรปิดเผื่อไว้สอบสวนติดตามได้ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา ควบคุมดูแลคนของเราอย่าให้เป็นคนร้ายขึ้นมาได้ ได้แต่หวังว่าคนจีนเข้าไทยเที่ยวนี้อย่ามีเรื่องร้ายๆ อะไรเกิดขึ้นกับคนจีนอีกเป็นอันขาด

ข้อที่ 4 ต้องรู้ว่าคนจีนชอบอะไร ถ้าเป็นอาหาร ทุเรียน กล้วยหอม มะม่วง ขึ้นอับดับหนึ่ง ทั้งอย่างสด อย่างแห้ง อย่างกรอบ ก่อนยุคโควิด ตามสนามบินของกินเล่นทุเรียนกรอบ กล้วยกรอบ มะม่วงกรอบ ต้องมีทุกร้าน ชนิดถุงใหญ่ๆ ช่วงโควิดสินค้าประเภทนี้หายไป หรือมีน้อยลง คนจีนมาเที่ยวนี้คงกลับมาใหม่ล่ะครับ

นมอัดเม็ดและน้ำผึ้งของสวนจิตรลดาก็เป็นของฝากยอดนิยมของคนจีน นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเป็นอย่างสูง ได้ชื่อว่าเป็นสินค้าพิเศษจากราชวงศ์ไทย

คนจีนยังชอบกินอาหารขึ้นชื่อของไทยเราเช่นชาติอื่นๆ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน หมูสะเต๊ะ ส้มตำ ไก่ย่าง อาหารบางอย่างที่มีเชื้อจีนแต่ไทยเรามาเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิม หรืออร่อยกว่าเดิม จนคนจีนติดใจอย่าง ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ สุกี้ ปูผัดผงกะหรี่

เคยมีคนจีนมาขอเรียนทำสุกี้สไตล์ไทย โดยเฉพาะน้ำจิ้ม ปูผัดผงกะหรี่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งคือเป็นแบบเอาต้มยำกุ้งมาใส่ก๋วยเตี๋ยว ขอแบบแซ่บๆ ด้วย คนทางเอเชียกินอาหารรสแซ่บไม่ต่างไปจากคนไทย เผลอๆ แซ่บกว่าด้วยซ้ำ ต่างจากคนชาติทางยุโรป อันนั้นรสชาติต้องอ่อนๆ

มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ คนจีนชอบมาก ดูดกะทิกล่องที่เราเอามาใส่แกงพรวดๆ แป๊บเดียวหมด สินค้าอื่นๆ เป็นเครื่องสำอาง สบู่แบรนด์ไทยๆ ยาหม่อง ยาดม แผ่นแปะแก้ปวดเมื่อย

สถานที่ท่องเที่ยวคนจีนชอบแบบแปลกๆ มีเอกลักษณ์ของตนเอง ชอบช้อปปิ้ง และใช้จ่ายด้วยระบบมือถือ ร้านค้าต้องไปเอาระบบ QR CODE มาใช้ ของไทยหลายเจ้าเชื่อมโยงระบบจ่ายเงินเมืองจีนเรียบร้อยแล้ว ลองสอบถามกันดู

ผมเคยไปเมืองจีนมีแต่เงินสดไป ปรากฏว่าซื้อของเขาไม่มีที่ไหนรับเงินสดเลย ต้องอาศัยไหว้วานคนรู้จักช่วยเอามือถือจ่ายให้แทน เพราะฉะนั้น เขามาเมืองไทย เราต้องเสาะแสวงหาแอปรับเงินเขาผ่านมือถือให้เรียบร้อยครับ

ข้อที่ 5 ภาษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก คนไทยกับคนจีนพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ไทยไม่พูดจีน และจีนก็ไม่พูดไทย รวมทั้งเขียน อ่านภาษาของแต่ละฝ่ายกันไม่ได้ ภาษาจีนเองยังมีหลายตระกูล มีความแตกต่างกันในการออกเสียง ความหมาย การเขียน

ผมเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนมาเรียนทำอาหารหลายกลุ่ม ต้องจัดหาล่ามไว้ให้ ซึ่งต้องสอบถามกันให้ดีว่าต้องการล่ามภาษาจีนตระกูลไหน เคยเอามาแล้วปรากฏพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะเป็นภาษาจีนคนละภูมิภาค เล่นเอาภาษามือวุ่นไปหมด

คนจีนรุ่นใหม่พอจะอ่านและพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ยังน้อยอยู่ พวกราคาของ ป้ายบอกสินค้า อาศัย “กูเกิล” ช่วยแปลให้ ส่วนใหญ่เป็นจีนกลาง ผิดถูกบ้าง ดีกว่าไม่มีเลย เหมือนกับเว็บซื้อของเมืองจีนที่เขาแปลจีนเป็นไทยมีอะไรตลกๆ เยอะ อ่านๆ ไปรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

ข้อที่ 6 สื่อสารเรื่องไทยๆ อย่างถูกต้อง พูดง่ายๆ อย่ามั่ว อะไรไม่รู้จริงก็ไม่ต้องอธิบาย ยิ่งภาษาสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง จะยิ่งสื่อความไปกันใหญ่ สู้ไม่พูดซะดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องที่คนไทยหลายคนให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง เรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ ปล่อยเป็นหน้าที่ของไกด์ที่เขาได้รับการอบรม และเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือจะดีกว่าครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม พ.ศ. 2566