ข้อเท็จจริงอีกมุม จากผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ต่อนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์

ข้อเท็จจริงอีกมุม จากผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ต่อนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวถึง ตามที่มีการประกาศนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์และเสนอแนวทางการใช้เครดิตสกอริ่งมาแทนในระบบสินเชื่อ ว่า เขาใคร่ขอนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาดูนะครับ ชอบ ไม่ชอบ เชื่อ ไม่เชื่อ เห็นด้วย เห็นต่าง เป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย ที่เราทุกคนได้รับการรับรองสิทธิในการแสดงออก ดังคำพระที่ว่า อย่าเชื่อแต่จงใช้สติและปัญญามาพิจารณาให้ถ่องแท้

1. แบล็กลิสต์มีอยู่ในรายงานเครดิตบูโรหรือไม่ คำตอบคือไม่มีส่วนใดในรายงานเครดิตบูโรที่จะระบุว่า บุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้รายนั้น เป็นคนที่ไม่สมควรจะคบค้าสมาคม ไม่สมควรจะทำธุรกิจด้วย หรือไม่สมควรที่จะได้สินเชื่อใหม่ที่กำลังยื่นขออยู่

2. ประวัติการชำระหนี้ที่อยู่ในรายงานเครดิตบูโรนั้นมาได้อย่างไร คำตอบคือ สถาบันการเงินสมาชิกของเครดิตบูโรเป็นคนส่งมาให้ทุกเดือนครับ มาตามที่กฎหมายกำหนด ใครมาเป็นสมาชิกก็ต้องส่งข้อมูลมาครับ คนทำธุรกิจจำนำทะเบียนหลายๆ รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เขาไม่มาเป็นสมาชิก เขาก็ไม่ได้ส่งข้อมูลมาครับ สหกรณ์ออมทรัพย์หลายรายก็แบบเดียวกัน

และการมาเป็นสมาชิกเครดิตบูโรก็ด้วยความสมัครใจของสถาบันการเงินนั้นเอง หลายธนาคารต่างประเทศก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ดังนั้น ใครไปเป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงินเหล่านั้น ข้อมูลประวัติการชำระหนี้สินเชื่อของท่านก็ไม่มาที่ระบบเครดิตบูโรครับ

3. ประวัติที่ถูกส่งมายังระบบเครดิตบูโร คือ ประวัติการชำระหนี้ตามที่ลูกค้ามีบัญชีอยู่ครับ ถ้าจ่ายได้ตามกำหนด ตามสัญญา ข้อมูลจะบอกว่า ไม่ค้างชำระ แต่ถ้าไม่ได้ไปจ่ายด้วยเหตุผลใดก็ตาม รายงานก็จะระบุว่า ค้างชำระ ตามความจริงเป๊ะ เพราะถ้าคนส่งข้อมูลไม่ดูแลความถูกต้อง เขาจะมีความผิดในการส่งข้อมูลและมีโทษในทางอาญาครับ ดังนั้น CEO ของสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรจะเข้มงวดเรื่องนี้มาก

ทีนี้สมมติว่าเดือนเมษายน 2565 ไม่ได้จ่ายชำระหนี้ มันก็จะรายงานว่า เดือนเมษายน 2565 ค้างชำระ พอเดือนพฤษภาคม 2565 ลูกหนี้เอาเงินไปเคลียร์ 2 ยอด ยอดแรกคือของเก่าเดือนเมษายนและยอดครบกำหนดปัจจุบันคือเดือนพฤษภาคมได้เรียบร้อย ประวัติก็จะแสดงว่า เดือนพฤษภาคม 2565 ไม่ค้างชำระ

ตามความเข้าใจของผม คือ พรรคการเมืองเขาเสนอให้ลบความจริงเดือนเมษายน 2565 ออกไป คำถามคือ เราลบความจริงในประวัติเพื่อให้คนพิจารณาเงินกู้ไม่เห็น ไม่ให้แสดงความจริง กฎหมายมันบอกว่าสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรต้องส่งข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย ย้ำว่าต้องถูกต้อง

ทีนี้ถ้าลบแล้วข้อมูลประวัติมันก็แหว่งสิครับ เพราะมันหายไปเดือนหนึ่ง คือ เดือนเมษายน คนพิจารณาให้กู้เขาก็จะรู้โดยอ้อมหรือไม่ว่าข้อมูลผิดปกติ แล้วคนฝากเงินที่เขาเอาเงินมาฝากเพื่อให้สถาบันการเงินเอาเงินไปให้กู้ต่อ เขาจะสบายใจไหมว่า สถาบันการเงินจะมีข้อมูลครบในการพิจารณาสินเชื่อ เราๆ ท่านๆ

เคยมีประสบการณ์ที่เกิดในปี 2540 มาแล้วนะครับว่า เพราะคนปล่อยกู้มีข้อมูลไม่ครบ ไม่เห็นนิสัย ประวัติการชำระหนี้ แต่ปล่อยกู้ไป ความเสียหายก็เกิดขึ้นนับเป็นเงินระดับล้านๆ บาท ผ่านมา 20 กว่าปีก็ยังใช้ไม่หมด คนเสนอนโยบายก็มีประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วยใช่ไหมครับ ลืมแล้วหรือไร เรากำลังจะลบความจริงเพื่อให้คนขอกู้ไปเอาเงินฝากผ่านคนกลางที่พิจารณาเรื่องโดยมีข้อมูลแหว่ง ไม่ครบ เราคิดจะทำอย่างนั้นจริงๆ เหรอครับ

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายนะครับ ถ้าอย่างนั้นต่อไป จะแก้ปัญหาคนไม่ได้งาน เพราะนายจ้างมีระบบคัดกรอง เราก็สนับสนุนให้ไปสมัครงาน โดยเอาใบเกรด 4 ปี 8 เทอม ไปให้คนสัมภาษณ์ดู แต่เราก็สามารถลบวิชาที่เราสอบได้คะแนนไม่ดีออกไปได้ จะได้เหลือแต่วิชาที่สอบได้ดี เพื่อจะได้ผ่านการคัดกรอง มีงานทำ เรากำลังคิดจะทำกันแบบนี้เลยเหรอครับ

4. แน่นอนครับว่า ระบบการให้สินเชื่อเรายังไม่ตอบโจทย์ ยังมีคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีขนาดจิ๋ว ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือถ้าเข้าได้ก็โดนดอกเบี้ยแพง ยิ่งหลังโควิดมีแผลเป็นจากการชำระหนี้ เช่น เป็นคนเคยค้างแต่ตอนนี้ดีแล้ว เป็นคนเคยประนอมหนี้แต่ตอนนี้กลับมาชำระปกติได้แล้ว เป็นคนที่ยังมีคนค้าขายด้วย

มีคนสั่งซื้อของแต่มีประวัติว่าเคยค้าง หรือแม้แต่ ปี 2562 ก่อนโควิด-19 ชำระหนี้ได้ทุกบัญชี ชำระหนี้ได้เต็มปี เต็มคาราเบล 12 เดือน พอปี 2563 เจอโควิด-19 ปี 2564 เจอเดลต้า ปี 2565 เป็นหนี้เสียค้างเกิน 3 งวด เกิน 90 วัน เป็นหนี้ NPLs รหัส 21 เวลานี้เศรษฐกิจกลับมาแล้ว แต่แผลเป็น คือ เป็นหนี้เสีย เข้าไม่ถึงเพราะกติกามันบอกว่า ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อนถึงจะใส่เงินใหม่ หนี้ใหม่เข้าไปได้

5. การจะได้เงินใหม่ หนี้ใหม่ มันก็ต้องมีข้อมูลว่ามีรายได้แล้วนะ ชัวร์นะ มีแน่นอนนะ ที่ผ่านมารายได้มันหดหาย ภาษาเทพ ภาษาพรหม คือ Income Shock เกิดหลุมรายได้

ข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ใช้น้ำใช้ไฟ ชำระหนี้ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ตรงเป๊ะ ไม่ค้างนะ ไม่เหนียวหนี้ หรือแม้แต่เป็นลูกจ้าง Platform ขายอาหาร ส่งของ ส่งสินค้า หรือมีข้อมูลจากผู้ซื้อที่เป็นกิจการของเจ้าสัว ว่าตัวเราเป็นซัพพลายเออร์ของเขานะ มียอดขายรายเดือนเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเรามีข้อมูลแบบนี้ที่เรียกว่าข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ไปให้กับคนขอกู้ได้มันก็จะไปช่วยสมานแผลเป็นจากประวัติชำระหนี้ค้าง

คิดง่ายๆ คือเ ราต้องการฮีรูดอยด์เอาไปทาแผลเป็นให้ผิวเราดีและสวยใกล้เคียงเดิม แนวคิดนี้ในหลายประเทศข้างๆ เราก็ทำ เช่น เครดิตบูโรของลาว ที่เอาข้อมูลค่าน้ำค่าไฟเข้าระบบเครดิตบูโร กัมพูชาเอาข้อมูลเช็คเด้งเข้าระบบ เพราะเขารู้ว่ามันมีแผลเป็นครับ บ้านเราข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในมือกิจการขนาดใหญ่ Platform รัฐวิสาหกิจ ถ้าท่านเหล่านั้นยอมส่งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินตามคำขอของลูกค้า ในฐานะเจ้าของข้อมูล ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ทำเป็นขั้นตอนทางดิจิทัล ผ่านมือถือ มันก็จะทัดเทียมประเทศอื่นๆ เขา ประเด็นคือ การใช้ การแชร์ การส่งต่อข้อมูล ในโลกหลังโควิด-19 ครับ ข้อมูลเพิ่มมันก็จะช่วยให้รู้จักลูกค้าเพิ่ม แต่ในทางกลับกัน ถ้าลูกค้าท่านเหนียวหนี้ ท่านไม่ไปจ่ายหนี้สาธารณูปโภค ท่านก็ไม่ได้สินเชื่อ แล้วเราต้องมีนโยบายเลือกตั้งครั้งหน้าให้ลบประวัติการค้างชำระหนี้พวกนี้อีกไหม…อันนี้ขอถาม

6. ถ้าเราเอาข้อมูลทั้งระบบเก่า คือ ประวัติการชำระหนี้ กับข้อมูลทางเลือกใหม่ มาผสมกันแบบที่ธนาคารโลกสนับสนุน และบ้านเราก็มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานไปดำเนินการมากว่า 5-7 ปีที่แล้วในเรื่อง Ease of Doing Business ถ้าเราทำให้จบเวลานั้น เราคงไม่มาพูดกันในเวลานี้ แต่ไม่เป็นไรครับ มันไม่สายที่จะทำ แม้แต่ทางธุรกิจโทรคมนาคมเขามีหนังสืออย่างเป็นทางการขอส่งและแลกข้อมูลของมือถือ (Mobile Data) กฎหมายและผู้คุมกฎหมายก็ยังไม่อนุมัติให้ทำได้

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

เพราะกฎหมายในปัจจุบันมันไม่เปิดช่อง (ตีความแล้ว) ถ้าท่านนักการเมืองที่กำลังเสนอตัวมาทำตรงนี้ท่านทำได้จริง ทะลุกฎหมายล้าสมัยได้จริง ผมจะขออนุโมทนา สาธุครับ

การกลับไปลบความจริงที่เกิดขึ้นในการชำระหนี้ ตามความเข้าใจของผมแล้วเชื่อว่ามันจะช่วย อยากให้ช่วยกันคิดให้ครบ อย่าสุกเอาเผากิน ใช้ความรู้จริง อย่าใช้ความรู้สึก นโยบายต้องมาจากความจริง ความดี มันถึงจะงอกเป็นความงาม มันต้องไม่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ

สิ่งที่นำเสนอมาเป็นเรื่องที่ดีมากครับ เปิดทางให้ผมได้เสนอข้อมูล ผมเห็นด้วย รายงานวิชาการก็เห็นด้วย มติ ครม. ก็มีแล้ว มันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำด้วยความรู้และความกล้า เพื่อพัฒนาชาติ ประเทศ เศรษฐกิจของไทย

เห็นด้วยครับในเรื่องปรับปรุงแนวคิดระบบการให้สินเชื่อของประเทศไทยเรา เพราะเรามีแผลเป็นจากโควิดในตัวคนกู้มากมาย และเขาต้องไปต่อ หากแต่เราจะไปยกเลิกในสิ่งที่มันไม่มีอยู่จริง ไม่เคยมี เป็นเรื่องของสิ่งที่พูดกันต่อๆ มา ตามความเชื่อ ไม่มีหลักฐาน เราคงไม่ทำอย่างนั้นแน่ เพราะเรามีสติปัญญา ความกล้าหาญ มากกว่านั้นแน่นอน

สุดท้าย ในศีล 5 ข้อจะมีเรื่องของการไม่โกหก ไม่พูดเท็จ ไม่ทำให้คนอื่นเชื่อในความเท็จ คนไทยต้องกล้าครับ กล้าที่จะแก้ไข ต้องไม่กล้าที่จะส่งเสริมการลบความจริง มันมีนวัตกรรมทางความคิดที่ดีมากในส่วนที่สองคือ หาข้อมูลเป็นฮีรูดอยด์มาบรรเทาความทุกข์จากแผลเป็นที่ทำให้เราดูไม่ดี จนคนเขาไม่เชื่อที่จะให้เรายืมเงินครับ