นักโภชนาการแจงข้อเท็จจริง กิน ‘ลิ้นจี่’ ตอนท้องว่างอันตราย จริงหรือ?

จากกรณีที่มีการศึกษาวิจัย ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ The Lancet ระบุว่า เด็กในรัฐพิหาร ประเทศอินเดียเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษในผลลิ้นจี่ ที่มีชื่อว่าไฮโพไกลซิน(Hypoglycin) โดยสารพิษนี้จะไปต่อต้านกระบวนการสร้างกลูโคสในร่างกาย ส่งผลต่อเด็กเหล่านี้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเด็กที่เสียชีวิตส่วนมากครอบครัวมีฐานะยากจน และไม่ได้รับประทานอาหารเย็น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ รศ.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารไฮโพไกลซิน เอ ตามที่มีการรายงานในงานวิจัยดังกล่าวนั้น สารชนิดนี้จะมีมากในผลลิ้นจี่ที่ดิบ และจะลดปริมาณของสารลงไปเรื่อยๆ เมื่อผลมีการเจริญเติบโตเต็มที่ หรือเมื่อผลลิ้นจี่กึ่งสุกกึ่งดิบปริมาณสารนี้ก็จะลดลง และเมื่อผลสุกแล้วจะมีปริมาณสารไฮโพไกลซินอยู่ราว 0.1พีพีเอ็ม(ppm)เท่านั้น จากที่ในผลดิบจะมีมากถึงหลักหมื่นพีพีเอ็ม และจะมีปริมาณสูงในเม็ดลิ้นจี่ ซึ่งในประเทศแถบแอฟริกา จะมีผลไม้ชื่อแอกคี(ackee) ซึ่งมีสารไฮโพไกลซินสูงเช่นเดียวกับลิ้นจี่ดิบ

รศ.รัชนี กล่าวอีกว่า ในกรณีของเด็กอินเดียที่เสียชีวิตจากการรับประทานลิ้นจี่นั้น ไม่สามารถระบุได้ว่าลิ้นจี่ที่เด็กเก็บมากินจากผลที่ร่วงลงพื้นเป็นผลสุกหรือดิบ ที่สำคัญคือ เด็กอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ไม่มีอะไรกินเลย มื้อเย็นไม่ได้กินอะไร จึงมีกลูโคสในร่างกายน้อยไปด้วย โดยสารไฮโพไกลซิน เอ จะมีฤทธิ์เข้าไปกด ยับยั้งการสร้างน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย ที่จะไปเลี้ยงสมอง ทำให้คนที่มีกลูโคสน้อยอยู่แล้วยิ่งไม่มีการสร้างกลูโคสไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ กระหายน้ำ รวมถึง เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เป็นอันตรายและเสียชีวิต แต่หากได้รับในปริมาณไม่มากและเข้ารับการรักษาในรพ.ได้ทัน ก็จะสามารถรักษาด้วยการให้น้ำเกลือแร่ ร่วมกับกินหรือฉีดกลูโคส

รศ.รัชนี กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการระบุว่ากินลิ้นจี่ตอนท้องว่างทำให้เกิดอันตรายจากสารนี้นั้น เป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้กินอาหาร ร่างกายก็ไม่มีกลูโคสและไม่มีอาหารไปสร้างพลังงานให้กับร่างกายเป็นทุนอยู่แล้ว จึงใช้พลังงานจากลิ้นจี่เพียงอย่างเดียว ก็ส่งผลต่อร่างกายดังที่กล่าว สำหรับในเมืองไทย คนไทยไม่ต้องไปกังวล อย่าตื่นตูมกับเรื่องนี้มาก เพราะบ้านเราคนไม่ได้ขาดสารอาหาร ร่างกายยังสามารถสร้างกลูโคสได้ และไม่นิยมกินลิ้นจี่ที่เป็นผลดิบ

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานการเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่ หรือเหตุการณ์ผิดปกติดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับรายงานข่าวดังกล่าว ขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบัน นั้น ชี้ว่าลิ้นจี่ที่สุกงอมแล้ว สามารถกินได้ตามปกติ

 

ที่มา มติชนออนไลน์