เคล็ด(ไม่)ลับ บริหารคนยุค New Normal ความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเจอ

4 เคล็ด(ไม่)ลับ บริหารคนยุค New Normal ความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเจอ

จากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลง ต้องยอมรับว่าภาพของการทำงานแบบเดิมเหมือนเช่นก่อนที่จะเกิดโควิด-19 คงไม่หวนกลับมาอีกแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคนทำงานออฟฟิศมีความเคยชินและเสพติดการทำงานแบบ Work From Home การประชุม หรืออบรมแบบออนไลน์ และมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในขณะที่ภาคขององค์กรธุรกิจเอง ยังเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก เสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลต่อการลงทุน ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับโอกาสและภัยคุกคามให้กับธุรกิจขององค์กร การพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนานัปการข้างต้นดังกล่าวนั้น หากจะเรียกว่า พ.ศ. 2566 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง

ผศ.ดร.พัลลภา ปีติสันต์ รองคณบดีงานบริการวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความท้าทายขององค์กรธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2566 โดยเฉพาะงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี นับจากที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกและในประเทศเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษา เก็บข้อมูล และสังเกตการณ์ การปรับตัวขององค์กรธุรกิจในมิติต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักศึกษาปริญญาโท

ซึ่งในอีกบทบาทเป็นผู้บริหาร เป็นพนักงาน และจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในแวดวงด้านบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร ตลอดจนข้อมูลจากหน่วยฝึกอบรมของวิทยาลัยเองมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นภาพการทำงานของหน่วยงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในปี พ.ศ. 2566 จะหนักหน่วงและมีความท้าทายไม่แพ้ในช่วงที่เคยพาองค์กรเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 เพราะต้องรับมือกับมิติของการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในในหลายๆ ด้าน

ผศ.ดร.พัลลภา ปีติสันต์ รองคณบดีงานบริการวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พัลลภา ยังได้กล่าวถึงการจัดการและดำเนินการของผู้บริหารองค์กรและหน่วยงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์หรือ HR เพื่อเตรียมรับมือกับประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นมาแล้วและจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น ในปี 2566 ดังต่อไปนี้

เรื่องแรก การปรับโครงสร้างและรูปแบบการทำงานขององค์กรให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ขององค์กรที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตามปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ โดยต้องจัดรูปแบบสายงานต่างๆ ขององค์กรและบุคลากรในองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในองค์กรได้อย่างทันท่วงที ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนได้ค่อนข้างยากและมีความท้าทายมากที่สุด เรื่องนี้คือการจัดการกับพนักงานขององค์กรในองค์รวมอย่างไร เพราะการโยกย้าย เปลี่ยนแปลงภาระงาน ของบุคลากรในองค์กรให้สอดคล้องกับ  สายงานใหม่ๆ ที่องค์กรพัฒนาขึ้น หรือปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่งานเดิมของพนักงานที่ทำอยู่เดิมให้ไปรับภาระงานใหม่ ซึ่งทำให้พนักงานต้องเรียนรู้การทำงานแบบใหม่ พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่องานใหม่ สร้างเครือข่ายในการทำงานขึ้นใหม่

Young coworker Asia creative businessman and businesswoman head manager talk coaching plan teach and educate explain project report on laptop paperwork on desk and communicate together at workplace.

การตัดสินใจรับพนักงานใหม่ที่มีความสามารถสอดคล้องกับแนวทางการทำงานแบบใหม่ขององค์กร การ Reskill หรือ Upskill ให้พนักงาน การปรับลดพนักงานโดยการเลิกจ้าง หรือทำอย่างไรกับพนักงานที่มีประสบการณ์สูง เงินเดือนสูง ในสายงานที่ถูกลดความสำคัญลง” สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและโจทย์ที่ท้าทายของ HR

เรื่องที่สอง ปรับแผนงานการสรรหาพนักงาน โปรแกรมการรักษาคนเก่ง สร้างและมัดใจกลุ่มทาเลนท์ขององค์กร และรองรับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชัน Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนกลุ่มนี้สนใจและอยากไปทำงานต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่ท้าทาย ไม่ยึดติดกับองค์กร

คนกลุ่มนี้ใช้เทคโนโลยีที่ตัวเองคุ้นเคยเป็นช่องทางในการแสวงหาความก้าวหน้าและสมดุลชีวิต รวมถึงในการนำตัวเองออกไปหาประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ ซึ่งค่านิยมของคนรุ่นใหม่ดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคัดเลือกคนมาทำงานแล้วยังจะมีผลกระทบต่อการสรรหาและรักษาพนักงานกลุ่มทาเลนท์รุ่นใหม่ๆ ขององค์กร

เรื่องที่สาม การปรับเปลี่ยนระบบประเมินผลงาน การกำหนด KPI ค่าจ้างค่าตอบแทน ตลอดจนระบบการให้รางวัลและสวัสดิการ เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด และมีความยืดหยุ่นที่จะรับกับการดูแลพนักงานที่ต้องการสับเปลี่ยนโยกย้ายหน้าที่และภาระงานเดิมไปสู่รูปแบบการทำงานตามยุทธศาสตร์ขององค์กร

เรื่องที่สี่ การกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร เพราะเป็นเวลาร่วม 2 ปีที่พนักงานส่วนใหญ่ขององค์กรต้องทำงานแบบ Work From Home จนกระทั่งปัจจุบันองค์กรจำนวนไม่น้อยก็ยังมีการทำงานแบบ “Hybrid Working” หรือการทำงานที่ให้พนักงานทำงานในออฟฟิศสลับกับ Work From Home หรือการเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working)

แทนที่การทำงานในออฟฟิศทุกวันในบางสายงาน หรือนำการประชุมแบบออนไลน์มาใช้เป็นหลัก พฤติกรรมการทำงานในรูปแบบดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อการส่งผ่านค่านิยมและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรจากรุ่นสู่รุ่นโดยตรง หรือการทำงานร่วมกัน

การพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนานัปการดังกล่าวนั้น หากจะเรียกว่า พ.ศ. 2566 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงแต่ประการใด องค์กรพร้อมแล้วหรือยังที่จะสรรหา พัฒนา และรักษา ทาเลนท์รุ่นใหม่ๆ ขององค์กรเอาไว้