คนไทยสแกนจ่ายเงินจนชิน คาดยอดชำระเงินออนไลน์ปี 66 โต 3.7 หมื่นล้านรายการ

คนไทยสแกนจ่ายเงินจนชิน คาดยอดชำระเงินออนไลน์ปี 66 โต 3.7 หมื่นล้านรายการ

ปัจจุบัน การชำระเงินออนไลน์ (Online Payment) อย่าง Internet Banking, Mobile Banking และ e-Wallet ได้กลายมาเป็นหนึ่งทางเลือกสำคัญในการชำระเงินของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

โดยแนวโน้มการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคไทยในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะมีสัดส่วนแตะร้อยละ 95 ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด โดยมีปริมาณธุรกรรม 36,510-37,970 ล้านรายการ หรือเติบโตราวร้อยละ 40.0-45.6 จากปี 2565

ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการสแกน QR Code ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการ การขยายขอบเขตการให้บริการชำระเงินในสินค้าและบริการที่หลากหลายและครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น

รวมถึงการทำโปรโมชั่นของกลุ่มผู้ให้บริการ e-Wallet อย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนของภาครัฐจากนโยบายการพัฒนาระบบชำระเงิน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินของ ธปท. ที่น่าจะเข้ามา สร้างบรรยากาศการแข่งขันให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ การเพิ่มยอดผู้ใช้และปริมาณธุรกรรมยังเป็นหัวใจหลักในการ ‘ต่อยอดทำเงิน’ ให้กับธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์ ทั้งในกลุ่มธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank)

อย่างไรก็ดี การต่อยอดทางธุรกิจของผู้ให้บริการชำระเงินด้วยการให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การให้บริการสินเชื่อ โฆษณาสินค้าและบริการ การให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าของร้านค้าออนไลน์

รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นที่นอกเหนือจากแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ อาทิ e-Market Place หรือ Online delivery ช่วยในการเสริมสร้าง Ecosystem ให้สมบูรณ์มากขึ้น ก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำรงอยู่และสามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

แต่การต่อยอดไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ท่ามกลางโจทย์เฉพาะด้านในแต่ละธุรกิจ และการแข่งขันที่เข้มข้นกับกลุ่มผู้เล่นเดิมในตลาด จึงอาจส่งผลให้ความคาดหวังในการทำกำไรจากธุรกิจใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในระยะเริ่มต้น

ซึ่งจุดเปลี่ยนที่จะสามารถทำให้การต่อยอดนั้นประสบความสำเร็จ ก็คงเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้ข้อมูลในแพลตฟอร์มอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ที่เข้มข้น 

รวมถึงเสถียรภาพและความปลอดภัยของระบบการให้บริการ ภายใต้ความสามารถในการรองรับธุรกรรมปริมาณมาก ซึ่งผู้ให้บริการควรให้ความสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการอย่างสม่ำเสมอ