เปิด 4 อาชีพ เจ้าหน้าที่ ที่ มิจฉาชีพ ชอบแอบอ้าง รู้ทันเอาไว้ ไม่โดนหลอก!

เปิด 4 อาชีพ เจ้าหน้าที่ ที่ มิจฉาชีพ ชอบแอบอ้าง รู้ทันเอาไว้ ไม่โดนหลอก!

ปัญหาการถูกหลอกจาก มิจฉาชีพ ได้สร้างความเสียหายปีหนึ่งๆ คิดเป็นมูลค่าแล้วมหาศาล แน่นอนว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ทั้งสิ้น แม้เราจะรู้ทัน แต่มิจฉาชีพก็มักมีมุกใหม่ๆ มาใช้เสมอ โดยเฉพาะเหล่าผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ที่อาจตกใจได้ หากมี เจ้าหน้าที่ โทรเข้ามาบอกว่า ธุรกิจของเรามีปัญหา

เว็บไซต์ กสิกรไทย ได้เผย 4 เจ้าหน้าที่ ที่มิจฉาชีพมักแอบอ้างเข้ามาหลอกลวง เหล่าผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ดังนี้

  • เจ้าหน้าที่สรรพากร

ทำการค้าย่อมมาพร้อมกับภาษี มิจฉาชีพจึงแฝงตัวมาในคราบเจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อเรียกเก็บเงินภาษีจากร้านค้า โดยการโทรศัพท์มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ พร้อมกับแจ้งว่าสามารถผ่อนจ่ายภาษีได้ แล้วจัดการช่วยทำรายการให้ทุกอย่าง แต่ท้ายที่สุดเงินไม่ได้ถูกนำเข้าในระบบของกรมสรรพากร

  • เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้าง โดยจะโทรศัพท์หาผู้เสียหายและบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สังกัด ส่วนคดีฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นจะแจ้งเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เสียหาย พร้อมกับบอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน จึงขอให้มาให้ปากคำและยืนยันตัวตนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มิฉะนั้นจะมีความผิด และถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดีให้โอนเงินไปให้นั่นเอง

  • พนักงานจากบริษัทขนส่ง

ช่วงนี้หากใครได้รับโทรศัพท์จากขนส่งชื่อดัง พร้อมแจ้งว่ามีพัสดุจากต่างประเทศติดศุลกากร ต้องโอนเงินเพื่อเคลียร์ของ หรือกล่าวหาว่าส่งของผิดกฎหมาย ต้องให้โอนเงินเพื่อเคลียร์คดี ฯลฯ คุณอาจจะกำลังตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ

  • เจ้าหน้าที่ธนาคาร

อีกหนึ่งกลโกงสุดฮิตของมิจฉาชีพ คือการแอบอ้างว่าติดต่อมาจากธนาคาร พร้อมกับแจ้งว่า บัญชีของคุณนั้นมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือเข้าข่ายเกี่ยวกับการฟอกเงิน เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวในการตรวจสอบบัญชี ซึ่งหากคุณหลงกลให้ข้อมูล อาจทำให้ต้องสูญเสียเงินในบัญชีได้อย่างง่ายๆ