ของดีภูเก็ต ทำมือทุกชิ้น ยิ่งบาติก ยืนระยะกว่า 30 ปี ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

ของดีภูเก็ต ทำมือทุกชิ้น ยิ่งบาติก ยืนระยะกว่า 30 ปี ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

“ผ้าปาเต๊ะ” มีรากมาจากวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในคาบสมุทรมลายูและถือเป็นอัตลักษณ์การแต่งกายของชาวมุสลิม โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมเป็นคำในภาษาชวา ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า “ติก” มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆ ผ้าปาเต๊ะ จึงหมายถึงผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ด่างๆ

ซึ่งมาจากกรรมวิธีการทำผ้าปาเต๊ะที่จะใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือ ย้อม ในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าบาติกบางชิ้น อาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสี และย้อมสี ในผืนเดียวกัน

เอกลักษณ์ของผ้าปาเต๊ะ จะเป็นรูปที่มีต้นแบบมาจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หรือรูปเรขาคณิตต่างๆ สำหรับผ้าปาเต๊ะในวัฒนธรรมเพอรานกัน จะนิยมรูปสัญลักษณ์มงคลตามคติจีน เช่น รูปดอกท้อ ดอกโบตั๋น พัด ลายหงส์ หรือ นกฟินิกส์ ถือเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมความเป็นมลายูและจีน

ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทย เริ่มรณรงค์เรื่องการท่องเที่ยวในราวปี 2530 ผ้าปาเต๊ะ จึงถูกนำมาถ่ายทอดให้กับ จังหวัดท่องเที่ยวแถบทะเลอันดามัน โดยเฉพาะ จังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับการขนานนามให้เป็น “ไข่มุกแห่งทะเลอันดามัน” จากปาเต๊ะของชาวมุสลิม

เขียนลาย

ซึ่งมีลวดลายเอกลักษณ์ ต้นไม้ ดอกไม้ ได้ดัดแปลง โดยเพิ่มลวดลาย กุ้ง หอย ปู ปลา ธรรมชาติใต้ท้องทะเล ให้มีชีวิตชีวา และมีความหลากหลายมากขึ้น ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และชื่อ ปาเต๊ะ ก็ได้กลายมาเป็นผ้าบาติก ที่เรียกขานกันติดปากจนทุกวันนี้

คุณยิ่ง-พิสิฐ เทพทอง เจ้าของร้าน “ยิ่งบาติก” จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นคนแรกๆ ของ จ.ภูเก็ต ที่ได้พัฒนาผ้าบาติก เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการทำผ้าบาติกของเขา ว่า ตัวเองจบศิลปะ จากวิทยาลัยครูภูเก็ต จึงมีพื้นฐานด้านการวาดรูปเป็นทุนเดิม ต่อมาปี 2530 ได้รับการอบรมทำผ้าบาติกจากวิทยากรจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ อาจารย์ชูชาติ รวิจันทร์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ วิทยาลัยครูภูเก็ต ในสมัยนั้น

และได้พัฒนาลวดลายของผ้าบาติกจากเดิม จะเป็นลายดอกไม้ตามพื้นเพเดิมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นลวดลายธรรมชาติ ลายท้องถิ่น ท้องทะเล และงานธรรมชาติต่างๆ โดยใช้เทคนิคของสีน้ำ ที่มีสีสันสดใส มีชีวิตชีวาจนได้มีการแนะนำบอกต่อ

และมีการนำออกจำหน่ายให้กับชาวต่างประเทศ และเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะฝรั่งชอบลวดลาย สามารถนำไปใช้อเนกประสงค์ ทั้งใช้ปูอาบแดด และพันตัว เพราะเนื้อมัสลิน ค่อนข้างนุ่ม พลิ้ว สบาย

ลงสี

จนมาถึงปี 2540 งานบาติก ได้ถูกนำเข้าสู่ระบบโอท็อป จึงมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริม ทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งวิทยากร ผู้ชำนาญการด้านต่างๆ มาพัฒนา ถือเป็นยุคที่ 2 ที่ปรับมาเป็นผ้าคอตตอน ตัดชุดข้าราชการ และเสื้อผ้าที่ใช้เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จนได้รับการคัดเลือกเข้าไปประกวด และได้รับรางวัลโอท็อป 5 ดาว และอีกหลายรางวัล

“เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงานสืบสานผ้าของถิ่นไทย ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นผลงานที่ใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำ เนื่องจากลวดลายที่เขียน คือ ช้างไทย ผสมผสานกับลวดลายของปลาทะเล เป็นการบ่งบอกถึงพลัง โชคลาภและแรงบันดาลใจ เน้นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นถิ่น ใช้เทคนิคขั้นสูง ต้องเขียนซ้ำหลายรอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอให้ทั้งเทียนและสีแห้ง งานบาติกทุกชิ้นของยิ่งบาติกเป็นการทำมือทั้งหมด” คุณยิ่ง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจทำผ้าบาติกในภูเก็ต เริ่มลดลง ส่วนหนึ่งด้วยเพราะเป็นงานฝีมือ ที่รุ่นลูกหลานไม่สานต่อ กระทั่งมีการปิดตัวไปหลายรายในช่วงวิกฤตโควิด

แต่สำหรับ “ยิ่งบาติก” แล้ว แม้จะเข้าสู่ปีที่ 35 แล้ว แต่ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป และส่งต่อมายังรุ่นลูก คือ คุณเพนท์-ฐิตาภรณ์ เทพทอง และคุณศุภชัย แซ่หลิม สามี ที่ได้มีการปรับรูปแบบ ขายเป็นผ้าผืนใหญ่ จำหน่ายให้กับดีไซเนอร์ เพื่อไปออกแบบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับ กระเป๋า ฯลฯ

ส่วนหน้าร้าน สินค้าก็มีหลากหลาย ผ้าผืนสำหรับตัดชุดลวดลายสีสันงดงาม เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด เสื้อข้าราชการ กางเกงเล ผ้าถุง กระโปรง ฯลฯ ส่วนตัวของคุณยิ่ง ได้หันไปเพ้นต์ภาพเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พญานาค พระพิฆเนศ ฯลฯ ลวดลายวิจิตร ที่ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และเทคนิคขั้นสูง ต้องใช้เวลานาน ราคาจึงมีตั้งแต่ 10,000 บาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท

ด้าน คุณศุภชัย ให้ข้อมูลด้วยว่า นับจากช่วงโควิด เป็นต้นมา ต้นทุนราคาผ้า ขึ้นต่อเนื่อง 5-6 ครั้งแล้ว แต่ทางร้านก็ยังไม่ได้ปรับราคา ต้องแบกต้นทุน เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบมาก ทุกวันนี้เรายังเน้นจุดแข็งคือ สินค้าที่ทำมือทุกชิ้น และขายด้วยตัวเอง ไม่ได้ฝากขายในห้างใหญ่ เพราะจะถูกตัดเปอร์เซ็นต์ไปจนไม่เหลืออะไร

ชื่นชม

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเพื่อคนตัวเล็ก กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีคือ เรื่องของการตลาด ไม่ได้บวกราคาสำหรับดีลเลอร์หรือพ่อค้าคนกลาง ตนเห็นฝีมือของร้าน ยิ่งบาติก แล้ว บอกได้เลยฝีมือระดับโลก ถ้านำชิ้นงานไปขายต่างประเทศจะได้ราคาเพิ่มอีกหลายเท่าตัว

แต่ภาพเขียนมือ หรือ Hand Paint นี้ จะต้องใส่เรื่องราวลงไปด้วย เช่น บาติกมาจากไหน สืบทอดมาจากใคร ศิลปินคือใคร แล้วตอนนี้ เหลือคนทำอยู่กี่คน อย่าไปกลัวเรื่องการเลียนแบบ เพราะงาน แฮนด์เมด คนที่ชอบ เขาเข้าใจและเขารู้ถึงคุณค่า และมูลค่าของแต่ละชิ้นงาน

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ยังแนะนำด้วยว่า อยากให้พัฒนาเรื่องการขายออนไลน์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเรื่องของการขนส่งด้วย โดยเฉพาะงานเขียนภาพรายชิ้น หากมีการนำใส่กรอบ ต้องจัดส่งแบบเฉพาะ ซึ่งเท่าที่ดู ยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องนี้ ยังเน้นขายหน้าร้านเป็นหลัก

ลวดลายสายมู

“ผ้าบาติก สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก ล่าสุดทราบว่า มีการสั่งผ้าบาติก เพื่อนำไปประดับกับกระเป๋ากระจูด เป็นแพ็กเกจของแบรนด์ข้าวอิ่ม ข้าวอินทรีย์จาก จ.มหาสารคาม ถือเป็นหนึ่งช่องทางในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า” คุณวรวุฒิ กล่าว

ผู้สนใจสินค้าของ ยิ่งบาติก สามารถชมได้ทั้งหน้าร้าน ตั้งอยู่เลขที่ 57/1 ซอยมะลิ หมู่ที่ 6 ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต หรือที่ https://www.facebook.com/yingbatikpaint?mibextid=ZbWKwL  หรือ ที่ไอจี บาติกเพ้นท์ (Yingbatikpaint) หรือ โทร. 063-892-9429 รับประกันคุณภาพ สวยทุกชิ้น