“โดนใจ” โมเดลค้าปลีกใหม่ ปรับลุกส์โชห่วยเดิมให้ขายดี ผลตอบแทน 100% ไม่แบ่งใคร

“โดนใจ” โมเดลค้าปลีกใหม่ ปรับลุกส์โชห่วยเดิมให้ขายดี ผลตอบแทน 100% ไม่แบ่งใคร

คนไทยคุ้นชินกับร้านโชห่วยมานาน แม้จะล้มหายตายจากกันไปบ้าง แต่ที่ยังอยู่ก็มีตัวเลขราวๆ 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และปัจจุบันร้านโชห่วยไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย เพราะค้าปลีกยักษ์ใหญ่หลายเจ้าเร่งปั้นโมเดลร้านค้าปลีกใหม่เป็นทางเลือกให้โชห่วยได้พัฒนาปรับปรุงร้าน

หนึ่งในนั้นคือ บีเจซี กับโมเดล ร้านโดนใจ สีส้มสดใส มาพร้อมระบบ POS ที่พัฒนามาเพื่อโชห่วยโดยเฉพาะ โดยในปีหน้าตั้งเป้าเปิดร้านโดนใจถึง 8,000 ร้านค้า และเติบโตสู่หลัก 30,000 ร้านค้าภายใน 5 ปี

คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี กล่าวว่า ร้านโดนใจ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่อยากเข้าไปช่วยพัฒนาร้านโชห่วยให้เติบโต ด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย ตลอดจนมีระบบที่ช่วยพัฒนาการขายแบบยั่งยืน

โดยตั้งแต่ปี 2565 บริษัทได้ทำโครงการแบบซอฟต์ลอนช์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากร้านโชห่วย เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายร้านโดนใจแล้วประมาณ 1,000 ราย มีขนาดร้านตั้งแต่ไซซ์ XS ถึงไซซ์ L 

แบ่งเป็นภาคอีสาน 400 ร้านค้า ภาคใต้ 189 ร้านค้า กรุงเทพฯ และปริมณฑล 128 ร้านค้า ภาคกลางยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 84 ร้านค้า ภาคเหนือ 60 ร้านค้า ภาคตะวันออก 85 ร้านค้า ภาคตะวันตก 54 ร้านค้า

ในขนาดไซซ์ XS มีจำนวน 356 ร้านค้า มียอดขายเฉลี่ย 4,500 บาทต่อวัน ไซซ์ S มีจำนวน 420 ร้านค้า มียอดขายเฉลี่ย 7,400 บาทต่อวัน ไซซ์ M มีจำนวน 182 ร้านค้า มียอดขายเฉลี่ย 10,000 บาทต่อวัน และไซซ์ L มีจำนวน 42 ร้านค้า มียอดขายเฉลี่ย 9,000-15,000 บาทต่อวัน

“หลังจากนี้บริษัทจะเดินหน้า พร้อมเปิดตัวพันธมิตรในต้นปี 2566 ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเจ้าของสินค้า ขณะที่เป้าหมายในปีหน้า คือการดึงร้านโชห่วยเข้าร่วมเครือข่ายร้านโดนใจประมาณ 8,000 ร้านค้า ส่วนเป้าหมายระยะยาวมองถึง 30,000 ร้านค้าภายในปี 2570” คุณฐาปณี กล่าว

มาเป็นครอบครัวโดนใจ

คุณฐาปณี เสริมว่า ร้านโดนใจให้อิสระร้านโชห่วยสามารถเลือกการลงทุนและเลือกสินค้าที่จำหน่ายได้เองทำให้ร้านมีความยูนีก โดยได้ผลตอบแทน 100% ไม่ต้องแบ่งผลกำไรกับใคร ด้วยงบลงทุนไม่สูงนัก โดยแบ่งรูปแบบร้านออกเป็น 2 แบบ คือ รูปแบบแรก บีเจซีจะใช้เครือข่ายของบิ๊กซีจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน พร้อมจัดส่งให้ถึงหน้าร้าน 

รูปแบบสอง คือการใช้ระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นให้ใช้งานง่าย และบีเจซีจะเข้าไปปรับปรุงร้านค้าให้มีรูปแบบทันสมัย และดึงดูดลูกค้ามากขึ้น โดยเจ้าของร้านโชห่วยสามารถเลือกขอบเขตการปรับปรุงหรือตกแต่งร้านค้าได้เองตามงบที่เห็นสมควร ทั้งนี้ จะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริหารระบบประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะถูกคืนกลับไปให้ร้านค้าในกรณีที่มีการสั่งซื้อสินค้าตามเป้าที่กำหนดให้

ส่วนการกระจายสินค้าเข้าร้านโดนใจจะใช้เครือข่ายสาขาของบิ๊กซีทั่วประเทศกว่า 200 สาขา ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดการเกี่ยวกับสินค้าที่จะนำมาวางขายในร้าน

สำหรับระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นนี้ นอกจากเป็นเครื่องมือช่วยคิดเงินแล้ว ยังช่วยให้รู้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่า สินค้าตัวไหนขายดี หรือสินค้าประเภทใดเป็นที่ต้องการ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังสามารถช่วยลดต้นทุนและแก้ปัญหาการบริหารจัดการสต๊อกที่เป็นต้นทุนหลักที่ร้านโชห่วยต้องแบกรับมาตลอด นอกจากนี้ ยังสามารถนำสินค้าท้องถิ่นมาขายผ่านระบบ POS ได้เช่นกัน

สำหรับร้านโชห่วยที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายร้านโดนใจ มีสัญญาระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปี, 3 ปี และ 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีระบบขายเชื่อ ขายก่อนจ่ายทีหลังให้กับร้านค้า และร้านโดนใจยังช่วยจัดทำโปรโมชั่นต่างๆ และกิจกรรมกระตุ้นยอดขาย สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน รวมถึงกิจกรรม CSR ร่วมกับเจ้าของร้านโชห่วย ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง