เผยแพร่ |
---|
การท่องเที่ยว ขึ้นแท่นพระเอก ดัน เศรษฐกิจไทย ปี 66 โต 3.6% คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทยทั้งปี 22 ล้านคน
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565-2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว
คาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นและการจับจ่ายซื้อสินค้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยมาจากการส่งออก การบริโภคของภาคเอกชน รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นเกือบทุกรายการ ขณะที่ การลงทุนยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน
“ส่วนการส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 8% เงินเฟ้อจะขยายตัว 6.1% อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.28% หนี้สินภาครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.3%”
ขณะที่ การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 3.6% โดยปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวยังมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยทั้งปี ประมาณ 22 ล้านคน
ขณะที่ ภาคการส่งออกในปีนี้จะไม่ใช่พระเอกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าทั้งปีโต 1-1.2% อย่างไรก็ดี คาดหวังในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกดีขึ้น จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัว
นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า ยังอยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญคือ ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 2.5% เศรษฐกิจโลก ขยายตัว 2.7% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 22-24 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยน 35.95 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 92.50 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25-2.00%
“จะเห็นว่าปี 2565 นี้ การส่งออกมีการเติบโต แต่ในปีหน้าการเติบโตทางด้านการส่งออกจะชะลอตัว เป็นเพียงตัวประกอบ และคาดหวังว่าช่วงปลายปีจะกลับมาดีขึ้น ส่วนการบริโภคที่ปรับตัวดีจะดีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่เติบโต ประกอบกับการเลือกตั้งซึ่งมองว่าการเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 จะส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายโควิด-19 ของประเทศจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และก็คาดหวังสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะมีการผ่อนคลาย การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งมองว่าจะมีการปรับขึ้นในปีหน้าจะอยู่ที่กรอบ 4.5-5.25% ซึ่งก็จะมีผลทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 และทั้งปี 2566 ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดปรับตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น
ทำให้เห็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจน การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน รายได้ของเกษตรกรยังขยายตัวได้ดี ความเสี่ยงด้านภัยแล้งลดลง เม็ดเงินจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 มีผลช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางหลายประเทศ ถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอย ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก เป็นต้น ที่เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามโดยจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ