แนะ 6 เทคนิค SMEs ใช้งานคนไม่เก่งอย่างไร ให้ธุรกิจก้าวหน้า

แนะ 6 เทคนิค SMEs ใช้งานคนไม่เก่งอย่างไร ให้ธุรกิจก้าวหน้า  

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก กล่าวว่า ในองค์กรทั้งใหญ่และเล็ก ต้องมีทั้งพนักงานที่เก่งและไม่เก่ง เพราะฉะนั้น การใช้งานคน จึงต้องมีเทคนิควิธีการ ซึ่งตนขอให้หลักคิดในการใช้งานคนไม่เก่ง เพราะคิดว่าอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ในองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี บริษัทกิจการเล็กๆ นั้น ยากมากที่จะมีคนเก่งโปรไฟล์ดีมาทำงานด้วย

ดังนั้น พนักงานในทีมไม่เก่ง ยิ่งต้องจัดการให้ดี งานถึงจะเดิน โดยหลักคิดทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย

หนึ่ง พนักงานไม่เก่งก็ต้องสอนงานให้มากๆ สอนให้ละเอียด ข้อนี้เป็นสิ่งที่หัวหน้าต้องจำใส่ใจเลยว่า พนักงานแรกเข้ามาไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่ๆ ไปแล้วยังไม่เก่งนี่เป็นความผิดของหัวหน้าแล้ว ดังนั้น หัวหน้าหรือเจ้าของกิจการ ต้องพัฒนาตัวเองไปเป็นโค้ชสอนงานที่เก่งแทน ใครที่ชอบคิดว่า สอนทำไมเดี๋ยวเก่งแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น ความคิดแบบนี้พินาศมาก เพราะพวกคนไม่เก่งแล้วไม่ยอมไปไหนนี่น่ากลัวกว่าเยอะ

สอง ให้โจทย์ที่ง่าย วัดผลได้สั้นๆ ชัดเจน พูดง่ายๆ คือ ต้องสอนและให้โจทย์ง่ายๆ สั้นๆ แต่ให้โจทย์บ่อยๆ อย่าปล่อยการประเมินผลให้ยาวไป วัดผลงานเป็นรายวันรายสัปดาห์ได้ยิ่งดี ผลงานออกมาไม่ดีตรงไหนก็รีบสอน

สาม สำหรับคนไม่เก่ง คำชมมีความหมายกว่าคำตำหนิมากมายนัก คนไม่เก่งมักทำงานไม่ค่อยดี ดังนั้น จึงไม่ค่อยได้รับคำชม แต่เมื่อไหร่เขาได้รับคำชม ใจเขาจะฟูมาก และคิดว่าเราก็ทำได้นี่หว่า การชมคน เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่คนเป็นหัวหน้าต้องเรียนรู้ในการใช้งานลูกน้อง

สี่ คนที่ยังไม่เก่ง มีแนวโน้มที่จะต้องมีระเบียบวินัยในการทำงานที่ชัดเจน เช่น เวลาเข้างาน การขาดลามาสาย การควบคุมมอนิเตอร์ผลงานก็ต้องมีมากและละเอียดกว่าพนักงานที่เก่ง ความยากคือ ทำยังไงไม่ให้ระบบควบคุมเหล่านี้ไม่กลายเป็นการจับผิดและแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจที่โจ่งแจ้ง ซึ่งไม่มีใครชอบไม่ว่าคนเก่งหรือไม่เก่ง

ห้า การให้ผลตอบแทนแบบมี คอมมิชชั่นอินเซ็นทีฟ อาจช่วยได้มากสำหรับพนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งมักมีทัศนคติที่ว่า เงินเดือนก็เท่าเดิม ทำงานมากถือว่าขาดทุน พนักงานที่คิดแบบนี้มีเยอะ โดยเฉพาะพนักงานแรงงานระดับล่าง ถ้าเรามีระบบให้ผลตอบแทนที่แปรผันตามผลงาน แบบทำมากได้มากจะช่วยได้เยอะ แต่วิธีคิดผลตอบแทนแบบนี้ซับซ้อนและต้องมีการวัดผลที่ชัดเจนจับต้องได้จึงจะเวิร์ก

และ หก คิดเสมอว่า พนักงานที่ไม่เก่งก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญของบริษัทเช่นกัน เพียงแต่ต้องออกแรงมากหน่อยในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานกลุ่มนี้

“การเก่งหรือไม่เก่ง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปวัดว่าเป็นคนดีหรือคนไม่ดี หลายครั้งพนักงานที่ไม่เก่งแต่เป็นคนดีที่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรมากกว่าพนักงานที่เก่งๆ เสียอีก สรุปคือ ต้องมีความเมตตา และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพนักงานทุกคนให้เป็นคนเก่งคนดี ไม่ว่าเดิมเขาจะเก่ง-ไม่เก่งอย่างไร เมื่อมาอยู่ในองค์กรเราแล้วต้องทำให้เก่งเท่าที่เขาจะมีศักยภาพในตัว องค์กรธุรกิจของเราจึงจะเจริญก้าวหน้า” คุณวรวุฒิ ทิ้งท้าย