ธุรกิจแฟรนไชส์ ฟังไว้ อยากไปได้ไกล ต้องคุมมาตรฐาน ไม่เอาเปรียบลูกค้า

ธุรกิจแฟรนไชส์ ฟังไว้ อยากไปได้ไกล ต้องคุมมาตรฐาน ไม่เอาเปรียบลูกค้า

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก กล่าวว่า หลายคนอาจคิดว่าการไปซื้อแฟรนไชส์ เป็นเส้นทางลัด ที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ เพราะเขาได้ทำสำเร็จมาแล้ว จึงยอมจ่ายค่าสิทธิประโยชน์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรต่างๆ พอเหลือกำไรบ้าง

แม้จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ยังดีกว่าทำเองแล้วต้องไปแข่งกับแฟรนไชส์ที่มีเป็นหมื่นสาขา กว่าเราจะปรับรสชาติ ทำระบบ ให้ดีเหมือนเขา ต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยง เลยคิดว่าซื้อแฟรนไชส์ง่ายกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อแฟรนไชส์ก็มีข้อควรระมัดระวังคือ ต้องปฏิบัติตามกฎ-กติกา ตามที่เจ้าของวางไว้ ถ้าแหกกฎก็จะมีปัญหา

“กว่า 80% ของธุรกิจแฟรนไชส์ คือ ธุรกิจอาหาร จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับวินัยของเรา และที่สำคัญ ต้องเลือกแฟรนไชส์ดี ที่พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนเต็มที่ แต่มีไม่น้อยที่เอาเปรียบ ปล่อยให้มี      แฟรนไชส์เยอะๆ แล้วไปแข่งกันเองในตลาด ยิ่งพอไม่มีวิจัย ควบคุมมาตรฐานไม่ได้ก็ยิ่งเป็นปัญหา ซึ่งมีให้เห็นมากมายที่เมื่อซื้อไปแล้วก็ไม่ค่อยซื่อสัตย์”

“เช่น ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวปกติก็ต้องซื้อ น้ำซุป ลูกชิ้น ของต้นทาง ซึ่งเมื่อเห็นว่าราคาสูงกว่า ก็แอบไปซื้อที่อื่นที่ราคาถูกกว่า แล้วมาอาศัยชื่อแฟรนไชส์ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้ แฟรนไชส์ที่ดี จึงต้องมีระบบการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ ใครที่ใช้แบรนด์ดี ก็ต้องดีเหมือนกันทุกเจ้า” คุณวรวุฒิ กล่าว

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

และว่า แฟรนไชส์ในอนาคต จะเป็นลักษณะ ออมนิ แชนเนล (Omni Channel)  หมายถึงการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง การเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ รวมให้เป็นหนึ่งเดียว โดยผสมผสานช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นทั้งออนไลน์ และการขายหน้าร้านหรือออฟไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างชาญฉลาดและไร้รอยต่อ

ซึ่งในต่างประเทศมีแฟรนไชส์ลักษณะนี้เยอะมาก ถ้าประเทศไทย ก็อย่าง ออฟฟิศเมท ที่ทำได้ดี ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อที่ร้านหรือสั่งออนไลน์ได้ เป็นการรวมระบบออนไลน์กับค้าปลีกเข้าด้วยกัน มีการจัดระบบโลจิสติกส์ ต้นทุนต่ำ สามารถส่งของได้รวดเร็ว