เกิดอะไรขึ้น! พันธุ์ข้าวเวียดนาม บุกไทย ชาวนาแห่ปลูกกันหลักล้านไร่ 

เกิดอะไรขึ้น! พันธุ์ข้าวเวียดนาม บุกไทย ชาวนาแห่ปลูกกันหลักล้านไร่ 

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการลักลอบนำเข้าพันธุ์ข้าวจากเวียดนามเข้ามาปลูกแทบทุกสายพันธุ์ ซึ่งตลาดรับรู้กันมาก โดยเฉพาะ “ข้าวหอมพวง”

ปัจจุบันคาดว่า พื้นที่นาที่ปลูกข้าวหอมพวงเพิ่มขึ้น จากหลักแสนไร่เป็นล้านไร่แล้ว ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาไทยยังไม่มีข้อมูลการปลูกข้าวหอมพวงที่ชัดเจนนัก ช่วงแรกประเมินว่ามีไม่กี่แสนไร่ แต่ตอนนี้น่าจะเป็นหลักล้านไร่ เพราะชาวนาแห่มาปลูกมาก เนื่องจากให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1.2 ตัน (1,200 กก./ไร่) เทียบกับข้าวไทย 350-400 กก./ไร่ และใช้เวลาปลูกสั้นเพียง 90 วันก็ได้ผลผลิต และเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความนุ่ม

นายเจริญ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ทั้งโรงสีและผู้ส่งออกต่างรับรู้ว่าเป็นข้าวหอมพวงและมีการรับซื้อ ปัจจุบันราคาเมื่อสีเป็นข้าวสาร ผู้ส่งออกรับซื้อที่ กก.ละ 15.80-16.00 บาท ขณะที่ข้าวขาว กก.ละ 14.30-14.50 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ กก.ละ 24-25 บาท

ส่วนการส่งออก ผู้ส่งออกจะกำหนดรูปแบบการขายแบบ “ขายตามตัวอย่าง” คือ ไม่ได้ระบุเป็นข้าวหอมมะลิ แต่เขียนเป็น “ข้าวตามตัวอย่าง” เรื่องนี้คนซื้อ-คนขาย ต่างเข้าใจกันว่าเป็นข้าวอะไร และเหตุที่ซื้อเพราะตลาดต้องการข้าวนิ่ม ราคาจะอยู่ในช่วงที่สูงกว่าข้าวขาว แต่ถูกกว่าข้าวหอมมะลิ

ต่อคำถามว่า ในอนาคตพันธุ์ข้าวเวียดนามจะครองที่นาไทยหรือไม่ นายเจริญ ตอบว่า “แน่นอนอยู่แล้ว เพราะไทยไม่มีพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาให้ชาวนาปลูก และมีผลผลิตต่อไร่สูง กฎหมายก็ห้ามนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นง่ายที่สุดก็คือ การไปเอามาจากชายแดน ทางการจะไปบังคับชาวนาได้อย่างไร

สิ่งที่ต้องทำคือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาแข่งกับเขา ต้องยอมรับความจริง และวางยุทธศาสตร์ข้าวระยะสั้น-กลาง-ยาว สมัยก่อนไทยจะมีข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เป็นข้าวนาปี พันธุ์พื้นเมือง นุ่ม ร่วน แต่ให้ผลผลิตแค่ 350-400 กก./ไร่ ความนิยมปลูกก็ลดลง ส่วนข้าวหอมพวงให้ผลผลิตต่อไร่สูง ชาวนาก็นิยมปลูกมากขึ้น

“ตอนนี้เกือบ 100% เจ๊กเชยเสาไห้ แทบจะไม่มี จะมีเหลือปลูกในพื้นที่บ้าง (GI) แต่ไม่มาก ไม่มีมาขายให้ผู้ส่งออกแล้ว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ขึ้นทะเบียนก็อาจจะแจ้งหอมพวงเป็นพันธุ์ข้าวไทยแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบหรือไม่

อันนี้จะโทษกระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่ได้ เพราะว่างบมีน้อย และในแต่ละวันเจ้าหน้าที่เกษตรก็ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ดังนั้น การจะไปตรวจสอบว่าการปลูกข้าวของไร่นี้มีพันธุ์อะไรบ้าง เข้าร่วมโครงการประกันรายได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติคงไม่ได้ ชาวนาปลูกข้าวหอมพวงแต่แจ้งเป็นข้าวขาวก็จบ”

นายเจริญ กล่าวถึงภาพรวมส่งออกปี 2565 ว่า ตัวเลขจะอยู่ที่ 7.5- 8.0 ล้านตัน อินเดีย 22 ล้านตัน ถือว่าสูงมาก หากไทยไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวจะยิ่งแข่งขันไม่ได้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาพันธุ์ข้าวล่าช้า มาจากกฎหมายไทยเก่าใช้มาตั้งแต่ปี 2400 และมีข้อจำกัดในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศมาพัฒนา หากนำเข้ามาต้องใช้เวลาติดอยู่เป็นปีกว่าจะเอาเมล็ดพันธุ์มาได้ พอนำออกมาได้ก็หมดอายุไปแล้ว

ประเด็นนี้ทำให้ไทยมีแต่ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ดังนั้น จึงเกิดประเด็นว่าต้องขโมยเมล็ดพันธุ์เข้ามาจากชายแดนง่ายกว่าไปขอราชการ ซึ่งเป็นสาเหตุของการลักลอบนำเข้าพันธุ์หอมพวงจากเวียดนาม ดังนั้นจึงต้องแก้กฎหมาย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ