ส่องสายช้อป นศ.-วัยเริ่มทำงาน กว่า 90% พร้อมเปย์สินค้าแบรนด์หรูในไทย

ส่องสายช้อป นักศึกษา-วัยเริ่มทำงาน กว่า 90% พร้อมเปย์สินค้าแบรนด์หรูในไทย

สถานการณ์โควิดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและภาคธุรกิจมากมาย หลายธุรกิจซบเซา แต่ตรงกันข้ามกับ ตลาดสินค้าแบรนด์เนมลักชัวรี่ ที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยสถิติยอดขายในประเทศที่เติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีปัจจัยมาจากข้อจำกัดในการเดินทางไปช้อปนอกประเทศ สู่การปรับตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักช้อป

ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะยาว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แบรนด์หรูจะต้องทำความเข้าใจและปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

ล่าสุด LINE ประเทศไทย เผยผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดในหัวข้อ “THE EVOLUTION OF THAI LUXURY INDUSTRY” นำเสนอข้อมูลเชิงลึกในการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูของนักช้อปในประเทศไทย เพื่อนักการตลาดใช้วางแผนกลยุทธ์ให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพต่อไป โดยสรุปเป็น 3 ประเด็นหลักน่าสนใจ ดังนี้

3 คาแร็กเตอร์นักช้อปแบรนด์หรูที่ควรรู้จัก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเข้าถึงสินค้าแบรนด์หรูต่างๆ ในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีนักช้อปสินค้าแบรนด์หรูที่มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุและพฤติกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

– The Aspirers กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักศึกษาและวัยเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ซึ่งมีสูงถึง 90% โดยคนกลุ่มนี้ มีขั้นตอนการตัดสินใจเลือกซื้อที่ค่อนข้างเยอะ และไม่คาดหวังบริการสุดพิเศษ เพียงแต่ต้องการมองหาสินค้าที่ตนเองสนใจและต้องการเท่านั้น

– The Luxurists กลุ่มผู้บริโภคอายุ 30-40 ปี มีจำนวน 8% ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ง่ายกว่ากลุ่ม The Aspirers และมีความคาดหวังด้านการบริการในระดับปานกลาง

– The SWIP หรือ Super VVIP กลุ่มคนอายุ 30-50 ปี มีจำนวน 2% ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ คนกลุ่มนี้นิยมซื้อสินค้าแบรนด์หรูบ่อยและคาดหวังการบริการที่ดีที่สุด อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านการดูแล ทะนุถนอมสินค้า และระมัดระวังการใช้งานมาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักช้อปที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก คือ นักช้อปรุ่นใหม่ที่จะเติบโตสู่การเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ในอนาคต โดยหัวใจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักช้อปรุ่นใหม่ คือ ความแปลกใหม่ ความสนุก และดีลดีๆ จากแบรนด์

ปัจจัยหลักในการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์หรูของนักช้อปไทยบนโลกออนไลน์

ราคา คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผ่านออนไลน์ของนักช้อปแบรนด์หรูในประเทศไทย จากผลสำรวจ พบว่า นักช้อปแบรนด์หรูยินยอมที่จะใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 25,900 บาทในการซื้อสินค้าแบรนด์หรูผ่านช่องทางออนไลน์ หากแบ่งเป็นสัดส่วน พบว่า 21% ของผู้บริโภคออนไลน์ เต็มใจซื้อหากราคาต่ำกว่า 10,000 บาท, 10% เต็มใจซื้อหากราคาอยู่ระหว่าง 40,001-50,000 บาท และ 4% เต็มใจซื้อหากราคามากกว่า 100,000 บาท โดย 5 อันดับสินค้าแบรนด์หรูในดวงใจของนักช้อป ได้แก่ กระเป๋าถือ นาฬิกา กระเป๋าสตางค์ รองเท้า และเสื้อผ้า

ทั้งหมดนี้ คือ บทสรุปโดยย่อสำหรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักช้อปแบรนด์หรูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการทำการตลาดของฝั่งแบรนด์หรูในประเทศไทยที่สอดคล้องกัน ทำให้สินค้าแบรนด์หรูสามารถฝ่าวงล้อมวิกฤตทั้งโรคระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจ และสร้างสถิติการเติบโตจากยอดขายในประเทศได้อย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง การซื้อขายจะกลับมาคึกคักมากขึ้น แต่พฤติกรรมของนักช้อปที่เปลี่ยนแปลงไป ยังคงมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อการตัดสินใจซื้อ การเลือกใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่น จะช่วยให้แบรนด์สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างยอดขายได้เติบโต