เผยแพร่ |
---|
5 เรื่องควรระวัง นักธุรกิจวัยสร้างตัว ห้ามลืม ถ้าอยากมีชีวิตการเงินที่มั่งคั่ง
ปัจจุบัน มีนักธุรกิจวัยสร้างตัวที่ไม่ต้องรอให้อายุถึงเลขหลัก 30 40 เกิดขึ้นมามากมาย และกลุ่มคนเหล่านี้ก็กำลังทำงานหนัก เพื่อสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ ผลิตกำไร และเตรียมเงินทุน
แต่อาจเผลอละเลยเรื่องสำคัญซึ่งเป็นรากฐานของความสำเร็จทางการเงินและความมั่งคั่งไป การมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจและสร้างกำไรในวัยนี้คือเป้าหมายหลัก แต่ขณะเดียวกัน 5 เรื่องที่ เว็บไซต์ ttb จะกล่าวถึง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณอาจจะลืมนึกถึง ดังนี้
1. บริหารกระแสเงินสดที่เข้ามาในธุรกิจไม่ให้ขาดมือ
“กระแสเงินสด” (Cash Flow) คือหัวใจสำคัญของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังเติบโต การมีกระแสเงินสดอย่างเพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจอยู่ตลอดเวลานั้นจำเป็นมาก
กระแสเงินสดสามารถเป็นตัวชี้วัดของธุรกิจได้เลยว่าจะอยู่รอดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักธุรกิจในวัยสร้างตัว การเรียนรู้ที่จะบริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ขาดมือจึงเป็นสิ่งที่ห้ามลืม โดยเทคนิคในการบริหารกระแสเงินสดที่นำมาฝากกันนั้น ประกอบด้วย
1. หมั่นตรวจสอบสถานะกระแสเงินสดสม่ำเสมอ โดยต้องคำนวณรายรับรายจ่ายหรือเงินค้างชำระ เพื่อเข้าใจสถานการณ์ของตนเอง
2. วิเคราะห์ความเสี่ยงของภาพรวมทางธุรกิจของตนเอง รวมถึงสภาวะของเศรษฐกิจด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และวางแผนกระแสเงินสดของธุรกิจ
3. บริหารจัดการการให้เครดิตลูกค้า และการชำระหนี้ให้รวดเร็ว
4. เปลี่ยนสินทรัพย์คงค้างให้กลายเป็นสภาพคล่อง
2. วางแผนการเงินที่ใช้ในการลงทุนในอนาคต
ธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การลงทุนโดยไม่มีการวางแผนนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก นักธุรกิจวัยสร้างตัวมือไวใจเร็วอาจพลาดในส่วนนี้ได้ การทำความเข้าใจธุรกิจของตนเอง ขอบเขตในการพัฒนาธุรกิจ วางแผนธุรกิจให้ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน
รวมถึงวางแผนเงินทุนที่ต้องใช้ในการพัฒนาในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก นักธุรกิจควรมีแผนงานที่ชัดเจนในการลงทุนแต่ละลำดับขั้น รวมถึงบริหารจัดการเงินลงทุนให้เพียงพอ และต้องมีเงินทุนสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักเพราะขาดเงินทุนในการพัฒนา เนื่องจากไม่วางแผนในการใช้เงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
3. มีความรู้เรื่องภาษีธุรกิจ
วางแผนการเงินมาอย่างดี บริหารสภาพคล่องได้อย่างสวยงาม แต่ดันมีรายจ่ายที่ไม่คาดคิดขึ้นมา ซึ่งรายจ่ายก้อนนี้มักจะเป็นภาษีที่เรามองข้ามไป การทำความเข้าใจเรื่องภาษีธุรกิจอย่างรอบด้าน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในการวางแผนการเงิน และบริหารความมั่งคั่งอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีที่นักธุรกิจต้องจำให้ขึ้นใจ ได้แก่
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่บริษัทต้องหักจากเงินที่จ่ายให้กับผู้รับ เช่น เงินเดือนพนักงาน
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บจากผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการ ซึ่งมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 1.8 ล้านบาท
4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เรียกเก็บจากธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ นักธุรกิจยังควรมีความรู้วิธีที่จะช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมไว้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เช่น การเลือกรูปแบบการหักภาษี การหักค่าใช้จ่ายจากการลดทุน หรือการซื้อประกัน เป็นต้น
4. แยกเงินส่วนตัวออกจากเงินของธุรกิจให้ชัดเจน
สิ่งที่ทำให้คนทำธุรกิจตกม้าตายมานักต่อนักคือ การไม่จัดการแยกเงินส่วนตัวกับรายได้จากธุรกิจอย่างชัดเจน นำรายได้จากกำไรของธุรกิจ มานับเป็นเงินส่วนตัวและหยิบใช้จากก้อนเดียวกัน ทำให้แผนการเงินของเราไม่เป็นระบบ ไม่มีขีดจำกัดในการหยิบใช้ และไม่สามารถติดตามได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจเป็นอย่างไร ขาดทุนเท่าไร กำไรเท่าไร
บางครั้งเราอาจเผลอดึงเงินธุรกิจมาใช้จนไม่รู้ว่าสรุปแล้วเงินที่หายไปเพราะธุรกิจขาดทุนหรือเราใช้เกิน การใช้วิธีจ่ายเงินเดือนให้ตนเองด้วยตัวเลขที่แน่นอนเหมือนพนักงานคนหนึ่ง และแยกไปไว้ในบัญชีส่วนตัว จะทำให้เราจัดการเรื่องการเงินได้เรียบร้อยและโปร่งใสขึ้น
5. วางแผนการเงินส่วนตัวเพื่อให้มีชีวิตที่มั่นคงราบรื่น
อย่ามัวแต่วุ่นกับการวางแผนธุรกิจจนลืมวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพราะรากฐานสำคัญของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสะท้อนมาจากแผนการเงินและการบริหารความมั่งคั่งอย่างมีประสิทธิภาพของตัวเจ้าของเอง การวางแผนการเงินและการบริหารความมั่งคั่งที่ดีจะช่วยให้เรามีสภาพคล่องที่ดี มีเงินทุนสำรองจากเงินเก็บ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางชีวิตต่อไปแม้ธุรกิจจะติดขัด เราก็สามารถอยู่ได้ด้วยเงินสำรองที่เตรียมไว้ หรือหากอยากเพิ่มธุรกิจที่สอง ก็มีเงินทุนพร้อม และที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนการเงินและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ เมื่อถึงวัยหนึ่งการบริหารธุรกิจคงเป็นเรื่องที่เราต้องยอมปล่อยมือ ส่งต่อให้ผู้ที่มีความสามารถมาช่วยดูแลกิจการต่อไป ควรเตรียมแผนการส่งต่อธุรกิจให้พร้อม เพื่อให้อยู่ในมือของบุคคลหรือทีมที่เรามั่นใจได้ และสำหรับการวางแผนการเงินส่วนตัวเพื่อใช้ในยามเกษียณ เตรียมรับความไม่แน่นอนของอนาคต