LINE ผนึก พันธมิตร เสริมแกร่งธุรกิจ แนะ ผปก.ไทย ใช้เทคโนโลยีเติบโต

LINE ผนึก พันธมิตร จัดงาน เสริมแกร่งธุรกิจ แนะ ผปก.ไทย ใช้เทคโนโลยีเติบโต ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้วิกฤตโรคระบาดได้ผ่านไปแล้ว ภาคธุรกิจไทยได้มีการปรับตัวมากมายให้สามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ความท้าทายยังไม่หมดไป วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่กำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้งและถือเป็นครั้งใหญ่ เราเห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย LINE ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อธุรกิจของคนไทย จึงได้จัดงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022 ภายใต้แนวคิด Navigating through the Turbulence with Customer-Centricity ทำอย่างไรให้ธุรกิจไทย เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลก

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย

ชวนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมอัพเดตสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมชี้แนะแนวทางการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและเติบโตได้แบบสวนกระแส โดยครั้งนี้เป็นการจัดงานใหญ่ประจำปีแบบออฟไลน์ครั้งแรกในรอบ 2 ปี มีภาคธุรกิจรวมถึงแบรนด์ชั้นนำของไทยให้ความสนใจร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 250 คน และคาดว่าจะมีบุคคลทั่วไปรับชมแบบออนไลน์กว่าแสนคน

“บรรยากาศอึมครึมทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และความขัดแย้งในเวทีโลก นำมาสู่ข้อสงสัยและความกังวลว่า ประเทศไทยจะข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่ท่ามกลางปัจจัยลบมากมาย หากแต่ในความเป็นจริงสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว มีดัชนีชี้วัดหลายตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤต และกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น”

“ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI (Human Development Index) ที่จัดลำดับการพัฒนามนุษย์ในแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้เป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง (ค่าดัชนีสูงกว่า 0.8) เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นอกจากนั้น อัตรารายได้ต่อหัวของไทยยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในปีที่แล้วแม้เรายังไม่ได้เปิดประเทศ เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราได้ก้าวข้ามวิกฤตและสามารถเติบโตต่อไปได้”

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย

“แม้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวเต็มกำลัง จนปัจจุบัน ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (Income per capita) ใกล้แตะ 22,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 800,000 บาท ซึ่งเป็นค่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน ขณะเดียวกัน เมื่อมองในด้านของศักยภาพการแข่งขัน LINE เห็นถึงการปรับตัวอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ SMEs และรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ และการเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนที่ใดในโลก เราจึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยศักยภาพที่มีอยู่อย่างมากมาย ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคครั้งใหญ่ได้ และเติบโตต่อได้อย่างแข็งแกร่ง โดย LINE มุ่งให้การสนับสนุนด้วยโซลูชั่นทางธุรกิจที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากอินไซต์ความต้องการของคนไทย โดยผู้พัฒนาไทย ที่เข้าใจผู้ใช้งานคนไทยอย่างแท้จริง” นายนรสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ในขณะที่ แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันข้อมูลในงานนี้ด้วย โดย มร.อเล็กซานเดอร์ โกรมอฟ และ ดาลัด ตันติประสงค์ชัย พาร์ทเนอร์ แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี เปิดเผยว่า เราทุกคนกำลังอยู่ในยุคแห่งความไม่แน่นอน โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เงินทุนสำรอง การใช้จ่าย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยภิบัติ นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทายแก่ธุรกิจ

โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงของโลก อีกทั้งในแต่ละประเทศยังสามารถส่งเสริมและเติมเต็มความได้เปรียบของกันและกันได้เป็นอย่างดี และในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตเชิงเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศเอเชียเป็นอย่างมาก ทั้งในเชิงรายได้ของบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา

ไปจนถึงสินทรัพย์ทางปัญญาในโลกเทคโนโลยีที่เติบโตกว่า 87% เหล่านี้นำไปสู่รายได้ประชากรและกำลังซื้อในการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับประเทศไทย ก็เช่นกัน มีกำลังซื้อกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นและคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าการบริโภคถึง 4 แสนล้านเหรียญต่อปี

มูลค่าการใช้จ่ายจะเติบโตมากถึง 90% ภายในปี 2030 จากข้อมูลเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่า เอเชียจะเป็นภูมิภาคแห่งการเติบโตทั้งในด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในยุคหลังโควิดนี้ ธุรกิจไทยต้องใช้โอกาสนี้ เตรียมตัวให้พร้อม ใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพื่อเดินหน้าธุรกิจพร้อมรับการเติบโตที่กำลังเกิดขึ้น