ก็ใจมันรัก เคยหนีเรียนไปเปิดแผงตลาดนัด โตมา เป็นเจ้าของ อีกามิวสิค

ก็ใจมันรัก เคยหนีเรียนไปเปิดแผงตลาดนัด โตมา เป็นเจ้าของ อีกามิวสิค 

คุณติตัส-จิราภรณ์ การบุญ เจ้าของเรื่องราวนับจากนี้ พื้นเพเป็นคนอุบลฯ จบปริญญาตรีด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ปัจจุบันอายุ 31 ปี แต่งงานแล้วมีลูก 1 คน และเป็นเจ้าของกิจการ อีกามิวสิค ร้านขายเครื่องดนตรี เจ้าดังในจังหวัดอุบลฯ

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ บอกเลย เรื่องราวของเธอ น่าสนใจไม่น้อย

“รักในการค้าขายมาก ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น เคยหนีโรงเรียน ปีนรั้วออกไปเพื่อไปจองคิวตลาดนัด” คุณติตัส เล่าความหลัง พร้อมหัวเราะร่วน

ก่อนแจงเหตุผลให้ฟัง แบบเขินๆ

“คือถ้ารอเลิกเรียนตอน 4 โมงเย็น จะไม่ทันไปจองแผง เลยปีนรั้วออกไปประมาณ 14.30 น. จากนั้นจะโทรให้เพื่อนต่างโรงเรียนมารับ เพราะเขาไปรับเสื้อผ้าตลาดมือสองมาขายไปรับจากตลาดโรงเกลือ ส่วนตัวเราเอา  ของแฮนด์เมดทำเองมาขาย อย่าง แก้วเซรามิกเพ้นต์ลวดลายต่างๆ

“แม่ค้าตลาดนัดตั้งแต่สมัยมอต้น คืออาชีพแรกที่ทำให้มีเงินเก็บ ตอนนั้นที่บ้านฐานะไม่ดี คุณพ่อเป็นข้าราชการเงินเดือนน้อย ส่วนตัวเราเองเป็นคนฟุ่มเฟือยตามประสาวัยรุ่น แต่หนูถือคติว่า ถ้าจะซื้อของชิ้นใหญ่ชิ้นใหม่ จะไม่เอาเงินเก็บออกมาใช้ ต้องออกไปหาเงินใหม่มาใช้ และนี่คือสาเหตุของการหนีโรงเรียนไปขายของ” คุณติตัส เล่าออกรส

แม้จะออกนอกลู่นอกทางเรื่องการเรียนไปบ้าง แต่เธอก็เรียนจบ ม.ปลาย มาได้แบบสบายๆ ด้วยเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ทั้งด้านวิชาการ และกิจกรรมทั่วไป เมื่อถึงวัยเข้ารั้วมหาวิทยาลัย จึงไม่ลังเลที่จะเลือกเรียนด้านการตลาด

“คิดว่าอาชีพค้าขาย น่าจะหาเงินได้มากกว่าคณะอื่น เพราะต่อให้เป็นหมอ เป็นพยาบาล ก็เป็นอาชีพที่มีเพดานเงินเดือน และคิดว่ามันสมองแบบหนู ไปเป็นหมอคงไม่ได้ จบออกมาเลยอยากทำมาค้าขาย เพราะชอบมานานแล้ว” คุณติตัส บอกยิ้มๆ

คุณติตัส-จิราภรณ์ การบุญ เจ้าของเรื่องราว

แต่หลังเรียนจบปริญญาตรี คุณติตัสยังไม่ได้เปิดกิจการหรือรับบทบาทแม่ค้าเต็มตัวแต่อย่างใด เธอไปสมัครทำงานประจำก่อน เพื่อหาประสบการณ์

“เคยไปเป็นพนักงานบริษัท ต้องออกไปหาลูกค้า ทำการตลาดให้กับสินค้าหลายแบรนด์ ได้เงินเดือนหมื่นกว่าคอมมิชชั่นต่างหาก ทำอยู่ 7-8 เดือน ไปทราบว่าสามารถทำยอดขายให้กับบริษัทได้เป็นสิบล้าน แต่เขาจ่ายเงินเดือนรวมค่าคอมฯ แล้วไม่ถึง 2.5 หมื่น เลยยื่นใบลาออก คิดในใจบริษัทนี้ขาดฉันแล้วจะรู้สึก แต่เขาก็ไม่ยื้อ เซ็นให้ออกเลย” คุณติตัส เล่าสนุก เรียกเสียงฮาตึง

เปิดร้านเหล้า ขี้เหร่มาก แต่ลูกค้าเต็มทุกวัน

ออกจากงานประจำได้ไม่นาน คุณติตัสถามตัวเองจะทำอะไรต่อ เพราะมีเงินเก็บอยู่ประมาณ 70,000-80,000 บาท และที่ผ่านมา เคยได้ยินบรรดา “ไลฟ์โค้ช” หลายต่อหลายท่าน มักบอกว่า “ต้องเอาความชอบของตัวเองมาทำธุรกิจ แล้วจะทำได้นาน”

และแล้วเธอก็ตกผลึกกับความคิดของตัวเอง ที่ว่า

“ตอนเรียนชอบสังสรรค์บ่อย ประกอบกับที่บ้านมีอาคารพาณิชย์อยู่ห้องหนึ่ง เลยขอพ่อเอามาเปิดร้านเหล้า ตั้งชื่อว่า คิวรถร้านเหล้ากระทิงแดง คนจะได้รู้จัก และไปมาสะดวก แต่ตรงตึกนั้นใกล้ๆ กัน เป็นร้านหมอกันหมดเลย เลยค่อนข้างจะเป็นแกะดำ อยู่ร้านเดียว” คุณติตัส เล่ายิ้มๆ

ก่อนเผยต่อ

“ร้านขี้เหร่มาก แต่เต็มทุกวัน ต้องโทรจองตั้งแต่ 6 โมงเย็น ที่ลูกค้าติด อาจเพราะเราบริการอย่างดี ลูกค้าลงจากรถ เจ้าของร้านเดินไปรับเลย ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นคนพิเศษ เปิดได้ 2 ปี ก็เลิก เพราะเหนื่อย ต้องกินเหล้าทุกวัน ไม่กินไม่ได้ลูกค้ายื่นให้ต้องรับ ร่างกายเริ่มรับไม่ไหว โทรมมาก”

จบจากธุรกิจร้านเหล้า ซึ่งกำไรดีมาก ทำให้คุณติตัส มีเงินก้อนใหญ่หลายแสนบาท ที่เธอคิดจะนำมาเป็นทุนเปิดกิจการใหม่ต่อไป คราวนี้เธออยากขายของ ที่ไม่เน่า ไม่เสีย ไม่บูด และที่สำคัญ ส่วนต่างต้องดีคือ ขายแพงได้ กำไรดี

กระทั่งได้ข้อสรุป อยากเปิดร้านขายเครื่องดนตรี โดยมีอีกหนึ่งเหตุผลคือ คุณพ่อของเธอรับราชการเป็นทหารดุริยางค์ อย่างน้อยน่าจะช่วยเลือกเครื่องดนตรีให้ได้

แต่การจะเป็น “คู่ค้า” กับเจ้าใหญ่ขายส่งเครื่องดนตรีนั้น บอกเลย ไม่ใช่งานง่าย

“ทำยังไงถึงจะดิวกับตัวแทนขายส่งได้ คิดอยู่นานมาก เลยไปถามคุณพ่อว่า เวลาวงดุริยางค์จะสั่งเครื่องดนตรีสั่งยังไง จากที่ไหน คุณพ่อให้ชื่อบริษัทเครื่องดนตรีมาเป็นสิบเจ้า โทรไปไม่รับบ้าง คนรับไม่ใช่คนตัดสินใจบ้าง สุดท้ายไปได้ที่เจ้าหนึ่งอยู่แถวนครปฐม แต่กว่าจะร่วมธุรกิจกันได้ ลำบากเหมือนกัน” คุณติตัส บอกอย่างนั้น

อีกามิวสิค กิจการที่ภูมิใจ

ก่อนย้อนเหตุการณ์ให้ฟังพอสังเขป

“กว่าจะเจอโกดังร้านขายส่งไม่ใช่ง่าย พอเจอแล้วก็ได้คำตอบว่า การจะเปิดบิลกีตาร์แต่ละยี่ห้อ ต้องใช้เงิน 300,000 บาท ก็เลยถามตัวเองว่าจะเอาไงดี ก็บอกเถ้าแก่ไปว่าไม่มีเงินแต่อยากเปิดร้าน และถ้าหนูประสบความสำเร็จ จะหาร้านแบบหนูมาให้เฮียอีก 3 ร้าน”

“เถ้าแกก็ไม่พูดอะไร หนูนั่งอยู่สักพักคิดว่ากลับดีกว่า ตอนกำลังจะเปิดประตูออกไป แกให้เด็กเดินออกมาตาม ถามว่าจะเปิดร้านขายเครื่องดนตรี เล่นเป็นไหม จะขายที่ไหน จะขายให้ใคร หนูซึ่งเตรียมคำตอบไปหมดแล้ว พอฟังเสร็จ เถ้าแก่สั่งไปให้ลูกน้องจัดเครื่องดนตรีให้หนู หลายยี่ห้อ หนูบอกว่าไม่มีเงินนะ แกบอกเอาไปก่อน ขายได้ค่อยเอาตังค์มาให้ นี่คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจล่าสุดที่ทำอยู่ทุกวันนี้ค่ะ”

อีกามิวสิค ไม่พีกเหมือนเคย ต้องปรับตัวให้เร็ว

ร้านขายเครื่องดนตรี ธุรกิจที่คุณติตัส หมายมั่นปั้นมือ ใช้ชื่อว่า “อีกามิวสิค” ได้ยินแล้วถึงกับต้องขมวดคิ้วเล็กน้อย ก่อนขออนุญาตถามถึงที่มา

“คิดว่าทุกคนไม่ชอบอีกา เขาจะชื่นชมแต่นกอินทรี แต่เหมือนหนูไปอ่านอะไรสักอย่างมาว่า อีกา เป็นนกที่สูญพันธุ์ยากนะ เพราะปรับตัวเก่ง อยู่ได้ทุกที่ ไม่ตายง่ายๆ เหมือนนกชนิดอื่น”

อดีตเคยพีก

เมื่อถามถึงสถานะธุรกิจอีกามิวสิคทุกวันนี้ คุณติตัสหน้าหม่นลงเล็กน้อย ก่อนพรั่งพรูให้ฟัง

“ขายอยู่ค่ะ แต่ไม่พีกเหมือนก่อนหน้า พอเจอโควิด รัฐบาลตัดงบสั่งซื้อเครื่องดนตรี อะไรที่ไม่จำเป็นตัดหมด ลูกค้ากลุ่มหน่วยงาน อย่างโรงเรียนต่างๆ ก็ไม่เหลือ ส่วนลูกค้ารายย่อย พอโควิดมาก็ไม่มีเลยค่ะ เพราะทุกคน ต้องซื้อแต่หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์” คุณติตัส บอกอย่างนั้น

และนั่นเอง ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอ ต้องค้นหา อาชีพใหม่ อีกครั้ง

“ช่วงที่ร้านขายเครื่องดนตรีกำลังดิ่งเหว เงินเก็บแทบไม่เหลือ แต่สิ่งที่เห็นในตอนนั้นคือ แม่ค้าออนไลน์ขายของดีมาก เพราะไม่มีใครออกจากบ้าน คนเริ่มกักตุนอาหาร พวกกวยจั๊บแห้ง หมูยอ ขายดีมาก ส่งทุกวันเป็นร้อยบ้าน เห็นแล้วตกใจมาก เลยไปศึกษาการค้าขายออนไลน์เลย เพราะหนูเป็นคนที่ปรับตัวเร็วมาก” คุณติตัส บอกทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

กับบทบาทใหม่ บนโลกออนไลน์

การก้าวเข้าสู่ “โลกออนไลน์” แบบเต็มตัว ของคุณติตัส ยังมีเรื่องราวน่าสนใจ อีกหลายประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ กับหลายๆ คน ไม่มากก็น้อย

โปรดติดตามตอนต่อไป เร็วๆ นี้