ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รากตำลึง เพิ่มพลังปึ๋งปั๋ง ช้าก่อน! อย่าเพิ่งไลก์-แชร์ ยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน
จากกรณีมีการแชร์ข้อมูล โดยอ้างสรรพคุณ “รากตำลึง” ว่าเป็นยาโด๊ปของไทย หรืออีกหนึ่งฉายาคือ “โสมไทย” ที่มีความคล้ายคลึงทั้งรูปร่างและสรรพคุณ ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมน ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงรังไข่ แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดหัว และยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ซึ่งนอกจากจะชงดื่มเป็นชาปกติแล้ว ยังสามารถนำไปดองยา แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดเอวเพิ่มกำลังวังชา เพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย และยังช่วยบำรุงมดลูกได้ด้วยนั้น
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในตำราอายุรเวท มีการใช้ตำลึงเป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี ปัจจุบันมีงานวิจัยมารองรับ ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในคนและสัตว์ทดลอง สรรพคุณที่ลดน้ำตาลอยู่ในส่วนใบ ราก ผล โดยคำแนะนำให้รับประทานตำลึงวันละ 50 กรัม หรือ ครึ่งขีด ทุกวัน สามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้
นอกจากนี้ ตำลึงยังช่วยในการขับถ่าย แก้ท้องผูก มีคุณค่าทางอาหารสูง ช่วยบำรุงสุขภาพ ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ จึงมีประโยชน์ต่อการชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดความดัน และเหมาะกับหญิงที่ให้นมบุตรเพราะช่วยเรียกน้ำนม มีแคลเซียม และสารอาหาร วิตามินที่เป็นประโยชน์กับทารก ตำลึง เป็นผักที่มีวิตามินเอสูงมาก สูงเป็นอันดับ 4 รองจาก ใบยอ ใบแมงลัก ใบโหระพา อ้างอิงจากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

และสมัยก่อนชาวบ้านที่มีอาการตามัว จะเลือกรับประทานตำลึงเป็นประจำ และต้องกินอาหารประเภทไขมันร่วมด้วยเพราะจะช่วยในการดูดซึมวิตามินเอได้ดีขึ้น ในส่วนของการใช้แบบพื้นบ้าน สำหรับ รากตำลึงนั้น มีการใช้เพื่อช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้ปวดเมื่อย แก้โรคหนองใน และโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน และลดอาการตามัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบัน
ส่วนกรณีที่มีการอ้างถึงสรรพคุณรากตำลึง ที่ช่วยเป็นยาโด๊ป นั้น ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ยังไม่พบรายงานวิจัยที่ยืนยันด้านการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ หรือการออกฤทธิ์แบบไวอากร้า แต่พบงานวิจัยที่สนับสนุนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา จากสารสกัดจากตำลึง พบว่าช่วยเรื่องลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด มีฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งอาจจะมีผลช่วยลดปวดเมื่อยได้ และฤทธิ์ต่อการฝังตัวของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันในแง่ของการใช้เพื่อเสริมสมรรถภาพทางเพศชายแต่อย่างใด หากประชาชนจะใช้เพื่อดูแลสุขภาพ และไม่มั่นใจ หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องระวัง แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนได้ที่ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร. 037-211-289 หรือ เฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศร และ เฟซบุ๊กสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร