ผู้เขียน | มิสมิลเลียนแนร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บริการส่งของสด จัดเรียงในตู้เย็น แม้ลูกค้าไม่อยู่บ้าน จุดขายโลกยุคดีลิเวอรี่
ทุกวันนี้ ผู้คนเคยชินกับการซื้อสินค้าแบบดีลิเวอรี่ ดูอย่างในบ้านเรา ทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด ปิ้งย่าง ชาบู เครื่องดื่ม ไปจนถึงร้านอาหารข้างทาง อย่าง บัวลอย และข้าวของเครื่องใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างก็มีบริการจัดส่งถึงบ้านหมด
สิ่งที่บริการดีลิเวอรี่เหล่านี้เหมือนๆ กันคือ ภารกิจจะสิ้นสุดที่หน้าประตูบ้าน เมื่อพนักงานส่งสินค้าถึงมือผู้สั่งอย่างครบถ้วน
แต่บางครั้ง อาจเกิดปัญหาติดขัด ถ้าเราสั่งชาไข่มุกตอนอยู่บนรถไฟฟ้า แล้วพอลงมาต่อรถตู้ดันขาดระยะ ชาไข่มุกไปถึงบ้านก่อน น้ำแข็งที่แยกมาคงละลายหมด หรือดีลิเวอรี่ของสดจากซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้ามาส่งก่อนลูกค้ากลับถึงบ้าน ของที่สดใหม่ อาจกลายสภาพเป็นเหี่ยวหรือเน่าได้
“วอลมาร์ต” (Walmart) ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ผุดแนวคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผ่านบริการ In-home Grocery Delivery จัดส่งของชำถึงตู้เย็น แม้ลูกค้าจะไม่อยู่บ้าน
วอลมาร์ต มีแผนทดสอบบริการใหม่นี้ในเมืองแคนซัส ซิตี้ รัฐมิสซูรี เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และเวโรบีช รัฐฟลอริด้า ครอบคลุมลูกค้าราว 1 ล้านคน
การใช้บริการนี้ ลูกค้าต้องยอมให้วอลมาร์ต ติดตั้งระบบสมาร์ทล็อกที่ประตูบ้านหรือโรงรถเสียก่อน ซึ่งบริษัทยังไม่ได้เปิดเผยแน่ชัดว่าต้องติดตั้งอะไรบ้าง
จากนั้นลูกค้าจึงจะสามารถเข้าไปสั่งของชำจากเว็บไซต์วอลมาร์ต หรือจากแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โดยเลือกบริการ In-home Delivery และวันเวลาที่ต้องการให้จัดส่ง
เมื่อถึงกำหนดส่งสินค้า พนักงานของวอลมาร์ต จะนำสินค้าไปจัดส่งตามนัดหมาย โดยใส่รหัสแบบใช้ได้ครั้งเดียวผ่านระบบสมาร์ทล็อกเพื่อเปิดประตู ก่อนจะนำของสดไปจัดเรียงในตู้เย็น
แน่นอนว่า การให้คนที่ไม่รู้จักเดินเข้านอกออกในบ้านตอนที่เราไม่อยู่ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งวอลมาร์ต อุดช่องโหว่นี้ ด้วยการคัดเลือกพนักงานที่มีอายุงานไม่น้อยกว่า 1 ปี มาทำหน้าที่ดังกล่าว ไม่จ้างคนจากบริษัทอื่น
อีกทั้งพนักงาน In-home Delivery จะต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะการจัดการอาหารในตู้เย็น รวมถึงการเข้าบ้านลูกค้าอย่างระมัดระวังเหมือนเป็นบ้านเพื่อนหรือคนในครอบครัว
ที่สำคัญคือ พนักงานดีลิเวอรี่ ต้องสวมกล้องระหว่างการทำงาน ซึ่งลูกค้าสามารถชมภาพขณะพนักงานจัดส่งสินค้าได้จากโทรศัพท์มือถือ เพื่อความสบายใจ ลูกค้าจึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ วอลมาร์ตยังมีแผนจะผุดบริการส่งคืนสินค้าผ่านบริการ In-home Delivery โดยลูกค้าสามารถวางของที่ต้องการส่งคืนไว้บนเคาน์เตอร์ จากนั้นพนักงานดีลิเวอรี่ จะจัดการส่วนที่เหลือให้ต่อ
ไม่ใช่แค่วอลมาร์ต เชนซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ “เวตโรส” (Waitrose) ก็มีแนวคิดเสิร์ฟของสดถึงตู้เย็นคล้ายๆ กัน
เวตโรส จะเพิ่มทางเลือกในการดีลิเวอรี่ให้ลูกค้า โดยให้พนักงานใช้รหัสเปิดประตูผ่านระบบสมาร์ทล็อก และรหัสนี้จะใช้ไม่ได้หลังจากพนักงานจัดวางของชำในตู้เย็น ตู้แช่แข็ง หรือตู้อาหาร เสร็จเรียบร้อย
พนักงานของเวตโรส ต้องติดกล้องบันทึกภาพขณะจัดส่งของในบ้านเช่นกัน เพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ ทั้งทรัพย์สินเสียหาย ลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทจะส่งคลิปให้ลูกค้าในวันรุ่งขึ้น
บริการจัดส่งของชำถึงตู้เย็นดังกล่าว จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่มาแรง รวมถึงการสั่งซื้อของสดหรืออาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีข้อจำกัด ลูกค้าจะต้องอยู่บ้านคอยรับของ
ส่วนค่าย “อะเมซอนดอตคอม” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ ผุดบริการจัดส่งของชำตามความต้องการที่เรียกว่า “อะเมซอนเฟรช” โดยเริ่มนำร่องในเมืองอินเดียนาโปลิส
ลูกค้าของอะเมซอนที่สมัครสมาชิกบริการ “ไพรม์” (Prime) อยู่แล้ว สามารถเพิ่มบริการนี้ในราคาเดือนละ 14.99 ดอลลาร์
ลูกค้าสามารถสั่งของชำ เนื้อสด อาหารทะเล รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น สินค้าอุปโภคบริโภค จากเว็บไซต์อะเมซอนดอตคอม จากนั้นพนักงานจะดีลิเวอรี่สินค้าให้ถึงมือภายใน 1-2 ชั่วโมง
ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่การช้อปปิ้งออนไลน์สุดแสนจะสะดวกและประหยัดเวลา แม้แต่ของสดก็ยังมีคนมาใส่ไว้ถึงตู้เย็น ยังมีใครให้มากกว่านี้ไหมคะ