เผยแพร่ |
---|
ค้าขายออนไลน์ต้องรู้! พฤติกรรมนักช้อปไทย ยุคดิจิทัล คอนเทนต์วิดีโอ-แชต ช่องทางต่อยอดการซื้อยอดนิยม
วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ยักษ์แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กโลก เมตา (Meta) หรือ เฟซบุ๊ก ได้ร่วมกับเบน แอนด์ คอมปะนี สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 16,000 คน และรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทต่างๆ กว่า 20 คน จาก 6 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
เพื่อต่อยอดรายงานฉบับก่อนหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี 2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 370 ล้านคน ขณะที่จะมีประชากรไทยกว่าร้อยละ 72 เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ภายในปีนี้ และคาดว่าจะมีผู้บริโภคดิจิทัลในภูมิภาครวมกว่า 402 ล้านคน ภายในปี 2570
และคาดว่าระหว่างปี 2563-2570 ประเทศไทยจะเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 14 แซงหน้าตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน อ้างอิงข้อมูลจากรายงานประจำปี SYNC Southeast Asia โดย Meta และเบน แอนด์ คอมปะนี เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและอนาคตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค
คนไทยช้อปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค
โดยการค้าดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยยังมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์ ออฟไลน์ และประสบการณ์อื่นๆ ได้อย่างลื่นไหลกว่าเคย โดยผู้บริโภคชาวไทยช้อปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 16.4 ค่าเฉลี่ยสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของภูมิภาคที่ร้อยละ 15.3
ยิ่งไปกว่านั้น ช่องทางอีคอมเมิร์ซทางเลือกอย่างการส่งข้อความเชิงธุรกิจและการช้อปผ่านวิดีโอไลฟ์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 25 ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่ง ระบุว่า โซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นการค้นพบผ่านรูปภาพ (ร้อยละ 15) วิดีโอ (ร้อยละ 26) และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การส่งข้อความ (ร้อยละ 9) เป็นต้น
งานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่า ผู้บริโภคมองหาการทดลองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างการค้นพบที่จะต่อยอดไปเป็นการสั่งซื้อมากขึ้น โดยร้อยละ 63 ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ได้ส่งข้อความเชิงธุรกิจไปในปีที่ผ่านมา
ขณะที่โซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ถึงเกือบครึ่งในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย โดยพบว่า คอนเทนต์วิดีโอในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลที่สร้างการค้นพบใหม่ๆ มีการเติบโตต่อปีกว่าร้อยละ 50 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563
นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Wallet) สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และสินทรัพย์ดิจิทัล NFT (Nonfungible Tokens) มากกว่าตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยร้อยละ 70 ระบุว่า ใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์สอย่างน้อย 1 อย่างในปีที่แล้ว ขณะที่ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย ระบุว่า ได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปในปีที่ผ่านมา
63% ส่งข้อความเชิงธุรกิจมากขึ้น
นายดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ตเนอร์และผู้อำนวยการฝ่ายการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีก เบน แอนด์ คอมปะนี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การพัฒนาใหม่ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และธุรกิจที่สร้างช่องทางที่มีการบูรณาการ และพัฒนาศักยภาพที่จำเป็น พัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็ง และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคดิจิทัล จะเอาชนะคู่แข่งอื่นๆ ได้
ด้าน นางสาวแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่า การเปิดรับของผู้บริโภคต่อการทดลอง และการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยขับเคลื่อนพฤติกรรมใหม่ๆ โดยร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้การส่งข้อความเชิงธุรกิจในปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคตามหาการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
“เรายังได้พบเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยครีเอเตอร์ภายในภูมิภาค โดยมีครีเอเตอร์ที่เติบโตในฐานะแบรนด์ และช่องทางค้าปลีกมากยิ่งขึ้น และการหาวิธีการทำการตลาดผ่านช่องทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อธุรกิจในปัจจุบัน”
และเห็นได้ชัดว่า แบรนด์จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคผ่านเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอ ขณะที่โซเชียลมีเดีย ยังเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและมีพฤติกรรมในการสลับการใช้งานระหว่างช่องทางต่างๆ และแบรนด์ได้สร้างกลยุทธ์ช่องทางที่มีการบูรณาการ เนื้อหาในรูปแบบวิดีโอบนโซเชียลมีเดียจะทำหน้าที่เป็นเส้นด้ายที่เชื่อมต่อช่องทางที่หลากหลายตลอดเส้นทางการซื้อสินค้าเข้าไว้ด้วยกัน